วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

12.3 ชีวิตชาวค่าย


เรื่องที่ 3 ชีวิตชาวค่าย
ชีวิตชาวค่าย เป็นกิจกรรมสร้างนิสัย การบำเพ็ญประโยชน์ รู้จักการปรับตัวเข้าหากัน และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยการฝึกปฏิบัติตนด้วยการทำงานร่วมกันเป็นหมู่รู้จักยอมรับในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน ฝึกการเป็นผู้นำ ผู้ตาม ฝึกให้รู้จักช่วยเหลือตนเองเมื่อมีเหตุการณ์คับขัน รู้จักการดำรงชีพกลางแจ้งโดยไม่นิ่งเฉย เชื่อฟังกฎกติกาอยู่ในระเบียบอย่างเคร่งครัด สร้างเสริมคุณธรรม สร้างความมีวินัย
ชีวิตชาวค่าย ประกอบด้วย
1. เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นสำหรับชีวิตชาวค่าย
2. การสร้างครัวชาวค่าย
3. การสร้างเตาประเภทต่าง ๆ
4. การประกอบอาหารแบบชาวค่าย
5. การกางเต็นท์ และการเก็บเต็นท์ชนิดต่าง ๆ
3.1 เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นสำหรับชีวิตชาวค่าย
เครื่องมือ เครื่องใช้ สำหรับการอยู่ค่ายพักแรม มีหลากหลายประเภทแยกตามลักษณะของการใช้งาน แบ่งออกเป็น ของมีคม ได้แก่ มีด ขวาน เลื่อย เครื่องมือที่ใช้สำหรับขุดได้แก่ จอบ เสียม พลั่ว พลั่วสนาม และเครื่องมือที่ใช้สำหรับตอก ได้แก่ ค้อน โดยแยกเก็บตามประเภท และลักษณะการใช้งาน เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้งาน และความเป็นระเบียบเรียบร้อย
มีด คือ เครื่องมือชนิดแรก ๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแทบทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตมีดเป็นเครื่องมือตัดเฉือนชนิดมีคม สำหรับใช้สับหั่นเฉือนปาดบางชนิดอาจมีปลายแหลมสำหรับกรีดหรือแทงมักมีขนาดเหมาะสมสำหรับจับถือด้วยมือเดียว
ขวาน เป็นเครื่องมือที่ทำด้วยเหล็กมีสันหนาใหญ่ใช้ในการตัดไม้ ฟันไม้ ผ่าไม้ ตอกไม้ รวมไปถึงการใช้เป็นอาวุธ โดยทั่วไปขวานจะประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือ ส่วนหัว และส่วนด้ามจับ โดยขวานจะมีทั้งแบบที่ด้ามยาว และแบบด้ามสั้นขึ้นอยู่กับงานที่ใช้
การดูแลรักษามีดและขวาน
1) ไม่ควรวางมีดหรือขวานไว้กับพื้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ถ้าเผลอไปเหยียบรวมทั้งจะทำให้คมมีดและขวานเป็นสนิมได้
2) อย่าใช้มีดหรือขวานหั่นถากวัตถุที่แข็งเกินไป เพราะอาจทำให้หมดคมหรืออาจบิ่นเสียหายได้
3) ไม่ควรเอามีดหรือขวานลนไฟหรือหั่นสับสิ่งที่กำลังร้อนเพราะจะทำให้ทื่อง่าย
181
4) หลังจากใช้มีดหรือขวานเสร็จแล้วต้องล้างให้สะอาดเช็ดให้แห้งทาน้ำมันแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย ถ้าเป็นมีดหรือขวานที่มีปลอกมีหน้ากากควรสวมปลอกหรือหน้ากากก่อนแล้วนำไปเก็บ
5) เมื่อคมมีดหรือคมขวานทื่อควรลับกับหินลับมีดหรือหินกากเพชร
6) ถ้าด้ามมีดหรือด้ามขวานแตกร้าวต้องรีบซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีก่อนนำไปเก็บหรือนำไปใช้งาน
วิธีถือมีดและขวานให้ปลอดภัย
1) ต้องหันด้านคมของมีดหรือขวานออกนอกตัว
2) เวลาแบกขวานต้องระวังอย่าให้คมขวานห้อยลงหรือหันเข้าหาตัว
3) ถ้าเป็นขวานขนาดเล็กเวลาถือให้จับที่ตัวขวานปล่อยด้ามขวานชี้ลงพื้นหันคมขวานไปทางด้านหลัง
วิธีส่งมีดและขวานให้ปลอดภัย
1) การส่งมีดผู้ส่งจับสันมีดหันคมมีดออกนอกตัวหรือหันด้านคมลงพื้นส่งด้ามมีดให้ผู้จับ
2)การส่งขวานผู้ส่งจับปลายด้ามขวานห้อยตัวขวานลงให้คมขวานหันไปด้านข้างผู้รับต้องจับด้ามขวานใต้มือผู้ส่ง
เลื่อย เป็นเลื่อยสำหรับงานไม้โดยทั่วไป ทำด้วยโลหะแผ่นบาง มีฟันเป็นซี่ ๆ โดยฟันของซี่เลื่อยมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสมกับการใช้งาน
การดูแลรักษา
1) หลังจากการใช้งานให้คลายใบเลื่อยออกเล็กน้อย เพื่อยืดอายุใบเลื่อยให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น
2) ใช้แปรงปัดทำความสะอาดทุกส่วน ทาด้วยน้ำมัน แล้วเก็บไว้ในที่เก็บหลังการใช้งาน
จอบ เป็นเครื่องมือขุดเดิน ที่มีน้ำหนักปานกลางและมีความทนทานสูง จอบใช้ในการขุดดินแข็ง ๆ และขุดหลุมให้มีขนาดกว้างและลึกได้ ลักษณะเด่นของจอบ คือ มีใบที่แบนกว้างและคม สามารถเจาะผ่านพื้นดินหรือก้อนดินที่แข็ง ๆ ให้แยกขาดออกจากกันได้โดยง่าย
การดูแลรักษา
หลังจากการใช้ทุกครั้งควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เพื่อกำจัดดินที่ติดตามใบจอบ และคมจอบให้หมดเสียก่อน จากนั้นให้ใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง แล้วทาน้ำมันกันสนิมและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
เสียม เป็นเครื่องมือขุดดิน ที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาเครื่องมือขุดดินทุกชนิดด้วยรูปทรงที่เล็กมีน้ำหนักเบา จึงไม่กินแรงผู้ใช้ เสียมจึงมีบทบาทสำคัญในงานด้านการเกษตรทุกชนิด จึงพูดได้ว่าเสียมเป็นเครื่องมือการเกษตรที่มาคู่กับจอบ เพราะสิ่งที่จอบทำได้เสียมก็สามารถทำได้ เช่น การขุดดิน ขุดลอก เป็นต้น แต่สิ่งที่เสียมทำได้นั้นจอบไม่สามารถทำ ได้ก็คือการขุดหลุมที่ลึกและแคบ และการขุดดินในที่แคบ ๆ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เช่น การขุดล้อมต้นไม้ขนาดเล็ก และการขุดหน่อกล้วย เป็นต้น
การดูแลรักษา
หลังจากการใช้งานทุกครั้งควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เพื่อกำจัดดินที่ติดปลายเสียมให้หมดเสียก่อน จากนั้นก็ใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง ทาน้ำมันกันสนิมแล้วหาที่เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
พลั่ว เป็นเครื่องมือใช้ในการตักดิน หรือตักทรายที่ความละเอียดมาก หรือเป็นก้อนที่ไม่ใหญ่นัก พลั่วมีน้ำหนักพอ ๆ กับเสียม แต่มีใบที่กว้างและบางกว่าเสียมและจอบเล็กน้อย คมของพลั่วไม่ได้มีไว้ใช้ในการขุดหรือเจาะ แต่มีไว้ในการตักหรือโกย เศษทราย เศษดิน หรือเศษวัชพืช ที่ได้ทำการกวาดรวม ๆ กันไว้เป็นกอง ๆ เรียบร้อยแล้ว เพื่อตักไปใส่ถุงปุ๋ย หรือบุ้งกี๋หรือถังขยะ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการจัดเก็บและทำความสะอาด
การดูแลรักษา
หลังจากการใช้ทุกครั้งควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เพื่อกำจัดเศษดินเศษทรายที่ติดตามปลายพลั่วให้หมดเสียก่อน จากนั้นก็ใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง ทาน้ำมันกันสนิมแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
ค้อน คือเครื่องมือสำหรับตอกหรือทุบบนวัตถุอื่น สำหรับการใช้งาน เช่น การตอกตะปู การจัดชิ้นส่วนให้เข้ารูป และการทุบทลายวัตถุ ค้อนอาจได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานเฉพาะทาง และมีรูปร่างกับโครงสร้างที่หลากหลาย แต่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมือนกันคือ ด้ามจับและหัวค้อน ซึ่งน้ำหนักจะค่อนไปทางหัวค้อนมากกว่า แรงที่กระทบเป้าหมายจะมากเท่าใด ขึ้นอยู่กับมวลของค้อนและความเร่งของการตอก ดังนั้นเมื่อค้อนยิ่งหนักมากและหวดด้วยความเร่งมาก แรงที่ได้จากค้อนยิ่งมากตามไปด้วย
การดูแลรักษา
1) เลือกชนิดของค้อนให้เหมาะกับงาน
2) เมื่อใช้งานเสร็จควรเช็ดทำความสะอาด แล้วทาน้ำมันที่หัวค้อนเพื่อป้องกันสนิม
3.2 การสร้างครัวชาวค่าย
การสร้างครัว เป็นการกำหนดพื้นที่สำหรับใช้ในการประกอบอาหารตลอดระยะเวลาในการอยู่ค่ายพักแรม มีองค์ประกอบในการสร้างครัว ดังนี้
ที่ทำครัว ควรมีเขตทำครัวโดยเฉพาะ โดยเลือกพื้นที่ที่จะเป็นเหตุให้เสียหายแก่พื้นที่น้อยที่สุด ถ้ามีหญ้าขึ้นอยู่ต้องแซะหญ้าออก (ให้ติดดินประมาณ 10 ซม.) แล้วจึงค่อยตั้งเตาไฟ ส่วนหญ้าที่แซะออกนั้นจะต้องหมั่นรดน้ำไว้ เมื่อการอยู่ค่ายพักแรมได้สิ้นสุดลงแล้วก็ให้ปลูกหญ้าไว้ที่เดิม แล้วรดน้ำเพื่อให้คืนสู่สภาพเดิมในการจัดทำเครื่องใช้นั้น อะไรควรจัดทำก่อน อะไรควรจัดทำภายหลังถือหลักว่าอันไหนสำคัญที่สุดก็ให้จัดทำก่อน แล้วจึงค่อยๆ จัดทำสิ่งที่มีความสำคัญรองลงมาตามลำดับต่อไปนี้ คือ คำแนะนำในการสร้างเครื่องใช้ต่างๆ
เตาไฟ มีหลายแบบ เช่น แบบขุดเป็นราง แบบใช้อิฐ หรือก้อนหินวางเป็นสามเส้าแบบเตายืนเป็นแบบสะดวกในการทำครัว ก่อนตั้งเตาไฟควรทำความสะอาดบริเวณนั้น อย่าให้มีเชื้อไฟหรือสิ่งที่ติดไฟง่ายอยู่ใกล้ ๆ
กองฟืน ลักษณะของฟืนที่นำมาใช้ควรเป็นไม้แห้ง เพื่อง่ายต่อการก่อไฟ ควรกองให้เป็นระเบียบ อยู่ไม่ห่างจากเตาไฟ ถ้าฝนตกจะต้องมีหลังคาคลุมดิน สำหรับเตายืนอาจเอาฟืนไว้ใต้เตาก็ได้
เครื่องใช้ต่าง ๆ หม้อ กระทะ แก้วน้ำ มีด เขียง ฯลฯ ที่เก็บมีด ที่เก็บกระบอกน้ำ เก็บจาน ที่เก็บถังน้ำ ที่เก็บอาหาร จะต้องจัดทำขึ้น
ที่หุงต้มและรับประทานอาหาร ควรมีหลังคามุงกันแดดกันฝน อาจใช้โต๊ะอาหารและม้านั่งควรจัดทำขึ้นตามแบบง่าย ๆ
หลุมเปียก ขุดหลุมขนาดใหญ่ให้ลึกพอสมควร ที่ปากหลุมใช้กิ่งไม้ ใบไม้สานเป็นแผงปิดแล้วเอาหญ้าโรยข้างบน หลุมน้ำสำหรับเทน้ำต่าง ๆที่ไม่ใช้แล้ว เช่น น้ำปนไขมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อเทลงไปไขมันและสิ่งต่าง ๆ จะติดอยู่ที่หญ้า มีแต่น้ำแท้ ๆ ไหลลงไปในหลุม แผงที่ปากหลุมจะต้องนำไปเผา และเปลี่ยนใหม่วันละครั้งเป็นอย่างน้อย
หลุมแห้ง ขุดเป็นอีกหลุมหนึ่ง เมื่อทิ้งเศษอาหารแล้ว จะต้องเอาดินกลบ ถ้าเป็นกระป๋อง ก่อนทิ้งต้องทุบให้แบนและเผาไฟ ในกรณีที่ค่ายนั้นมีถังสำหรับเผาขยะหรือเศษอาหารโดยเฉพาะอยู่แล้ว ก็ให้นำขยะและเศษอาหารไปเผา ณ ที่กำหนดไว้
3.3 การสร้างเตาประเภทต่าง ๆ
เตาสำหรับหุงอาหาร
เตาไฟที่ใช้ในการหุงอาหารในการอยู่ค่ายพักแรมมีอยู่หลายแบบ ซึ่งจะจัดการสร้างได้ขณะอยู่ค่ายพักแรมตามสภาพของพื้นที่ เตาไฟแบบต่าง ๆ ได้แก่ เตาราง เตาใช้อิฐและหิน เตายืน เตาแขวน ในการก่อสร้างเตาแต่ละครั้งลูกเสือจะต้องทำความสะอาดรอบๆบริเวณที่ก่อสร้างเตาให้เตียนและอย่าให้มีเชื้อไฟหรือวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ๆ อยู่ใกล้บริเวณนั้น
เตาสามเส้า เป็นการนำก้อนหินสามก้อนมาวางบนพื้น จัดระยะห่างให้พอดีกับก้นหม้อเป็นสามมุมดูให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
เตาหลุม ขุดหลุมให้มีขนาดกว้างพอเท่ากับหม้อ ลึกพอประมาณ แล้วเจาะรูเพื่อใส่ฟืนด้านหน้า แล้วมีรูระบายอากาศ ด้านข้างเพื่อให้ควันออก
เตาลอย ให้ขุดหลุมสี่มุม แล้วนำท่อนไม้แข็งแรงสี่ต้นทำเป็นเสาสี่มุม นำไม้มาวางพาดผูกเป็นสี่เหลี่ยมและวางคานให้เต็มพื้นที่ ใช้ใบไม้ปูให้ราบ เอาดินปูพื้นให้หนาพอสมควรอีกชั้น แล้วใช้ก้อนหินทำเป็นเตาสามเส้า หรือเตารางแล้วแต่สะดวก (หากเป็นหน้าฤดูฝนสามารถสร้างหลังคาต่อเติมได้)
เตารางไม้ นำไม้ที่มีง่ามสองท่อนมาปักลงดินตรงข้ามกัน แล้วนำไม้ท่อนตรงวางพาดเป็นคานไว้แขวนภาชนะ (ไม้ที่ควรใช้พาดควรเป็นไม้ดิบ ซึ่งจะไม่ทำให้ไหม้ได้ง่าย)
เตาแขวน หรือเตาราว ใช้ไม้ที่มีง่ามมาปักลงดินเป็นระยะห่างให้พอดี แล้วหาไม้ยาวเป็นคานมาพาดง่ามไว้สำหรับแขวนภาชนะ
เตากระป๋อง นำกระป๋องหรือถังขนาดเล็ก ที่พอดีกับหม้อหรือภาชนะ มาผ่าข้างออกเป็นประตูลมแล้วเจาะรูส่วนบนสี่รูเพื่อให้อากาศถ่ายเท
3.4 การประกอบอาหารแบบชาวค่าย
การปรุงอาหารในขณะอยู่ค่ายพักแรมหรือเดินป่า เป็นการปรุงอาหารเเบบชาวค่ายไม่สามารถเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ในการหุงต้มได้ครบถ้วน เช่น ใช้เตาหลุม เตาสามเส้าเตารางใช้มะพร้าวอ่อนแทนหม้อ กระบอกไม้ไผ่ ใช้ดินพอกเผาแทนการต้ม การปิ้ง เป็นต้น
การปฏิบัติหรือประกอบอาหารบางอย่างที่จำเป็นในขณะที่อยู่ค่ายพักแรม ควรเลือกประกอบอาหารอย่างง่าย รวดเร็ว คงคุณค่าทางอาหาร ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
การหุงข้าวด้วยวิธีต่าง ๆ
1. การหุงข้าวด้วยหม้อหู สามารถหุงข้าวได้ 2 แบบ คือ แบบไม่เช็ดน้ำ และเช็ดน้ำ
          1) การหุงข้าวไม่เช็ดน้ำ ข้าว 1 ส่วน ต่อน้ำ 2- 2.5 ส่วน
วิธีหุง
(1) ซาวข้าวให้หมดสิ่งสกปรก รินน้ำทิ้ง
(2) ตวงน้ำใส่น้ำหม้อ ปิดฝาให้สนิท ตั้งบนเตา ใส่ไฟแรงจัด
(3) เมื่อน้ำเดือดใช้พายกวน 1 ครั้ง พอน้ำจวนแห้งปิดฝาหม้อให้สนิทเอาถ่านหรือฟืนออกเหลือเกลี่ยไว้ให้ไฟน้อยที่สุด (การกวนคนข้าวนี้เพื่อให้ได้รับความร้อนทั่วถึงกัน)
(4) เอียงข้าง ๆ หม้อให้รอบ ๆ ตั้งต่อไปจนน้ำแห้งให้ข้าวสุกและระอุดีใช้เวลาประมาณ 20-25 นาที
           2) การหุงข้าวเช็ดน้ำข้าว 1 ส่วน ต่อ น้ำ 3 ส่วน
วิธีหุง
(1) ซาวข้าวพอหมดสิ่งสกปรก รินน้ำทิ้ง
(2) ตวงน้ำใส่หม้อ ปิดฝาให้สนิท ตั้งบนไฟใช้ไฟแรงจนกระทั่งข้าวเดือด
(3) เมื่อน้ำเดือดใช้พายกวนข้าว 1 ครั้ง หรือมากกว่า เพื่อให้ได้รับความร้อนทั่วถึง
(4) สังเกตดูพอเม็ดข้าวบาน รินน้ำข้าวทิ้งเอาขึ้นดงบนเตา ใช้ไฟอ่อน ๆ ตะแคงหม้อ หมุนให้ได้ความร้อนทั่วจนน้ำแห้ง จากนั้นให้ยกลงจากเตา
2. วิธีการแก้ข้าว
1) วิธีการแก้ข้าวแฉะ
ข้าวแฉะเกิดจากปล่อยทิ้งไว้จนเม็ดข้าวบานมากหรือใส่น้ำน้อยจนน้ำข้าวข้นมากก่อนจะเช็ดน้ำข้าวให้ใส่น้ำเปล่าลงไปให้น้ำไม่ข้น คนให้ทั่วหม้อ แล้วเช็ดน้ำให้แห้งปิดฝาหม้อให้สนิท แล้วหมุนหม้อไปมา และนำหม้อข้าวไปตั้งที่เตาไฟ โดยใช้ไฟอ่อน ๆ
2) วิธีแก้ข้าวดิบ
ให้ใช้น้ำพรมข้าวพอประมาณคุ้ยพรมให้ทั่วหม้อแล้วจึงนำหม้อข้าวขึ้นดงใหม่หมุนให้ทั่วดงให้นานกว่าดงข้าวธรรมดาเมื่อยกลงห้ามเปิดฝาดู ควรปิดให้สนิท เพื่อข้าวจะได้สุกระอุดี
3) วิธีแก้ข้าวไหม้
หากได้กลิ่นข้าวไหม้ รีบเปิดฝาหม้อเพื่อให้ไอน้ำออก และความร้อนในหม้อจะได้ลดลงเร็ว ขณะเดียวกันกลิ่นไหม้จะได้ออกไปด้วย คุ้ยข้าวตอนบนที่ไม่ไหม้ให้สุก แล้วเปิดฝาทิ้งไว้
การประกอบอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ
การต้ม ทำได้ 2 วิธี คือ
1) โดยการใส่ของที่จะทำให้สุกลงไปพร้อมกับน้ำ แล้วนำไปตั้งไฟ เช่น การต้มไข่ถ้าใส่ในน้ำเดือดแล้วไข่จะแตกเสียก่อน
2) โดยการใส่ของที่จะทำให้สุก เมื่อน้ำนั้นเดือดแล้ว เช่น การต้มปลากันเหม็นคาว
การผัด หมายถึง การทำวัตถุสิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง ซึ่งต้องการให้สุกสำเร็จเป็นอาหารสิ่งเดียว
วิธีการผัด
โดยการใช้น้ำมันหรือกะทิ ใส่ในภาชนะที่จะใช้ผัด แล้วนำของที่จะผัดรวมลงไปคนให้สุกทั่วกันและปรุงรสตามชอบ
การทอด 
           ใส่น้ำมันลงในภาชนะที่จะใช้ในการทอดโดยประมาณให้ท่วมของที่จะทอดตั้งไฟให้น้ำมันร้อนจัด จึงใส่ของลงไป ทอด การสังเกตของที่ทอดว่าสุกหรือยังให้สังเกตตามขอบของสิ่งที่ทอด
การถนอมอาหาร
การตากแห้ง เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดมากที่สุด ใช้ได้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เป็นวิธีที่ทำ ให้อาหารหมดความชื้นหรือมีความชื้นอยู่เพียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ สามารถเกาะอาศัยและเจริญเติบโตได้ทำให้อาหารไม่เกิดการบูดเน่า โดยการนำน้ำหรือความชื้นออกจากอาหารให้มากที่สุด เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม กล้วยตาก เป็นต้น

การรวน เป็นวิธีการที่คล้ายกับการคั่วแต่ต้องใส่น้ำมัน นิยมใช้ประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และปรุงรสให้เค็มมากขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน เช่น ไก่รวน เป็ดรวน และปลาหมึกรวน เป็นต้น

3.5 การกางและการเก็บเต็นท์ชนิดต่าง ๆ
การไปอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือแต่ก่อนนั้นลูกเสือไปหาที่พักข้างหน้าตามแต่จะดัดแปลงได้ในภูมิประเทศ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าลูกเสือไม่พักในอาคาร ลูกเสือจะต้องนอนกลางแจ้ง ซึ่งจะต้องหาวิธีสร้างเพิงที่พักง่าย ๆ ที่สามารถกันแดด กันฝน กันลม และป้องกันสัตว์เลื้อยคลานได้โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ ต่อมาเริ่มมีการเตรียมอุปกรณ์ไปด้วยเช่น เชือกหลาย ๆ เส้น พลาสติกผืนใหญ่ เป็นต้น ทำให้ง่ายต่อการสร้างเพิงที่พักมากขึ้นปัจจุบันลูกเสือส่วนมากจะเตรียมเต็นท์สำเร็จรูปไปด้วย เพราะเต็นท์มีขายอย่างแพร่หลาย และมีให้เลือกหลายแบบ หลายสี หลายขนาด มีน้ำหนักเบา มีขนาดกะทัดรัดสามารถนำพาไปได้สะดวก
การกางเต็นท์กระแบะ หรือเต็นท์ 5 ชาย
อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ในการใช้เต็นท์สำหรับอยู่ค่ายพักแรม จะใช้เต็นท์ 5 ชาย ซึ่งเหมาะสำหรับลูกเสือจำนวน 2 คน ซึ่งจะใช้พื้นที่ในการกางเต็นท์ไม่มากนักและวิธีกางก็ไม่ยุ่งยาก
ส่วนประกอบของเต็นท์ 5 ชาย มีดังนี้
1) ผ้าเต็นท์ 2 ผืน
2) เสาเต็นท์ 2 ชุด (2 เสา) ชุดละ 3 ท่อน (3 ท่อนต่อกันเป็น 1 ชุด)
3) สมอบก 10 ตัว (หัวท้าย 2 ตัว ชายด้านล่างด้านละ 3 ตัว ประตูหน้า 1 ตัว และหลัง1 ตัว)
4) เชือกยึดสมอบก 10 เส้น (เชือกยาวใช้รั้งหัวท้ายเต็นท์ 2 เส้น เชือกสั้นใช้ยึดชายเต็นท์ 6 เส้น และประตูหน้า - หลัง 2 เส้น)
การกางเต็นท์
การกางเต็นท์ 5 ชายนั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
1) ติดกระดุมทั้ง 2 ผืนเข้าด้วยกัน
2) ตั้งเสาเต็นท์ทั้ง 2 เสา
3) ผูกเชือกรั้งหัวท้ายกับสมอบก
4) ตอกสมอบกยึดชายเต็นท์
การรื้อเต็นท์ที่พักแรม
1) แก้เชือกที่รั้งหัวท้ายกับสมอบกออก
2) ล้มเสาเต็นท์ทั้ง 2 เสาลง
3) ถอนสมอบกที่ยึดชายเต็นท์และที่ใช้รั้งหัวท้ายเต็นท์
4) แกะกระดุมเพื่อแยกให้เต็นท์เป็น 2 ผืน
5) ทำความสะอาด เก็บพับให้เรียบร้อย
6) นำผ้าเต็นท์และอุปกรณ์เก็บรวมไว้เป็นที่เดียวกัน
เต็นท์สำเร็จรูป
เต็นท์สำเร็จรูปจะมีลักษณะและรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งมีวางจำหน่ายโดยทั่วไปง่ายต่อการประกอบและการเก็บ แต่ละแบบจะมีรูปแบบการประกอบไม่เหมือนกัน จึงให้ผู้ใช้พิจารณาตามวิธีการของเต็นท์  เต็นท์สำเร็จรูปใช้เป็นที่พักสำหรับลูกเสือทั้งหมู่ (1 หมู่)เป็นเต็นท์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเต็นท์กระแบะ มีน้ำหนักมากกว่าเต็นท์กระแบะสามารถพกพาไปได้สะดวก พื้นที่ที่ใช้กางเต็นท์จะมีบริเวณกว้างพอสมควร ส่วนวิธีกางเต็นท์ไม่ยุ่งยากมีลูกเสือช่วยกันเพียง 2 คน ก็สามารถกางเต็นท์ได้
ส่วนประกอบของเต็นท์สำเร็จรูป มีดังนี้
1) ผ้าเต็นท์ 1 ชุด
2) เสาเต็นท์ 2 ชุด (2 เสา) ชุดละ 3 ท่อน (3 ท่อนต่อกันเป็น 1 ชุด หรือ 1 เสา)
3) สมอบก 12 ตัว (ยึดมุมพื้น 4 ตัว ยึดชายหลังคา 6 ตัว หัว 1 ตัว ท้าย 1 ตัว)
4) เชือกยึดสมอบก 8 เส้น ทุกเส้นมัดติดกับแผ่นเหล็กสำหรับปรับความตึงหย่อนของเชือก (เชือกสั้น 6 เส้นใช้ยึดชายหลังคา เชือกยาว 2 เส้นใช้รั้งหัวท้ายเต็นท์)
วิธีกางเต็นท์สำเร็จรูป ปฏิบัติดังนี้
1) ยึดพื้นของเต็นท์ทั้ง 4 มุมด้วยสมอบก 4 ตัว
2) นำเสาชุดที่ 1 (ต่อ 3 ท่อนเข้าด้วยกัน) มาเสียบที่รูหลังคาเต็นท์ ให้คนที่ 1 จับไว้
3) ให้คนที่ 2 ใช้เชือกยาว 1 เส้น ยึดจากหัวเสา (หรือห่วง) ไปยังสมอบกด้านหน้า (โดยผูกด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด หรือผูกเงื่อนกระหวัดไม้ ไม่ต้องใช้เงื่อนผูกรั้ง เพราะเป็นแผ่นปรับความตึงอยู่แล้ว) แล้วใช้เชือกสั้น 2 เส้น ยึดชายเต็นท์เข้ากับสมอบกให้เต็นท์กางออกเป็นรูปหน้าจั่ว
4) ให้คนที่ 2 เดินอ้อมไปอีกด้านหนึ่งต่อเสาที่ 2 เสียบเข้ารูหลังคา เต็นท์อีกด้านหนึ่งแล้วจับเสาไว้ให้คนที่ 1 ปล่อยมือจากเสาที่ 1 แล้วนำเชือกยาวเส้นที่ 2 ยึดจากหัวเสาที่ 2ไปยังสมอบกด้านหลัง
5) ให้คนที่ 2 ปล่อยมือจากเสาที่ 2 ได้ เต็นท์จะไม่ล้ม ทั้งสองคนช่วยกันใช้เชือกยึดชายหลังคาเต็นท์ (จุดที่เหลือ) ให้เข้ากับสมอบกแล้วปรับความตึงหย่อนของเต็นท์ให้เรียบร้อย
หมายเหตุ เต็นท์ สำเร็จรูปมีหลายแบบ มีรูปทรงไม่เหมือนกัน บางแบบคล้ายเต็นท์กระแบะ เป็นต้น ใช้สะดวกและเบามากแต่บอบบาง
เต็นท์อย่างง่าย
วิธีนี้ปัจจุบันสะดวกมาก ทั้งยังราคาถูกหาซื้อง่ายใช้ประโยชน์ได้ดีสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยใช้ถุงปุ๋ยหรือเสื่อเย็บต่อกันให้ได้เป็นผืนใหญ่ ๆ สามารถใช้แทนผ้าเต็นท์ได้ จะให้มีขนาดใหญ่เท่าใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่ส่วนใหญ่มักจะทำเป็นผืนใหญ่ใช้เป็นที่พักของลูกเสือได้ทั้งหมู่ 
          วิธีทำ
หาไม้สองท่อนมาทำเสา ปักลงในดินให้แน่น แล้วเอาไม้อีกอันหนึ่งพาดทำเป็นขื่อเสร็จแล้วใช้ถุงที่เย็บหรือผ้าใบพาดกับขื่อนั้น ที่ปลายทั้งสองข้างรั้งเชือกกับสมอบกการนำวัสดุต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นจะง่าย สะดวกและประหยัด เพื่อเป็นการส่งเสริมและปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รูปแบบเต็นท์แบบต่าง ๆ

                                                            เต็นท์แบบโดม


                                                          เต็นท์แบบโครง


                                                       เต็นท์แบบสามเหลี่ยม
                                                            เต็นท์แบบกระโจม
                                                           เต็นท์แบบกึ่งถุงนอน
เต็นท์แบบอุโมงค์
ข้อควรระวังในการกางเต็นท์
เมื่อต้องการกางเต็นท์หลายหลังเป็นแนวเดียวกัน ขั้นแรกเล็งให้สมอบกและเสาต้นแรกของทุกเต็นท์อยู่ในแนวเดียวกันการกางเต็นท์แต่ละหลังให้เล็งสมอบกตัวแรกเสาแรกเสาหลัง และสมอบกตัวหลังทั้ง 4 จุดอยู่ในแนวเดียวกันเสาทุกต้นที่ยึดเต็นท์จะต้องตั้งฉากกับพื้นเสมอหลังคาเต็นท์จะต้องไม่มีรอยย่น สมอบกด้านข้างของเต็นท์แต่ละหลังจะต้องเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ถ้าเต็นท์ตึงไปอาจจะขาดได้ หรือถ้าหย่อนเกินไปก็จะกันฝนไม่ได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้น้ำซึมได้ง่ายและถ้าหากลมพัดแรง อาจทำให้เต็นท์ขาดได้ การผูกเต็นท์ควรใช้เงื่อนผูกรั้งเพราะสามารถปรับให้ตึงหย่อนได้ตามต้องการการดูแลรักษาเต็นท์
การดูแลรักษาเต็นท์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก
ลองอ่านวิธีการเหล่านี้ดูแล้วคุณจะรู้ว่าเต็นท์ดูแลง่ายนิดเดียว
1. ฝึกกางเต็นท์ให้ถูกวิธี การที่คุณเรียนรู้วิธีการกางเต็นท์อย่างถูกวิธี จะทำให้เต็นท์ของคุณไม่เกิดความเสียหาย เพราะบางครั้งการกางเต็นท์ไม่ถูกวิธี อาจทำให้อุปกรณ์บางชิ้นเกิดความเสียหายได้ เช่น อาจจะใส่เสาเต็นท์ผิดอันทำให้เกิดความเสียหายเวลางอเสาเข้ากับเต็นท์ เป็นต้น
2. อย่าเก็บเต็นท์ของคุณขณะที่เปียกถ้าไม่จำเป็น เพราะอาจจะทำให้เกิดกลิ่นอับได้เราควรจะนำเต็นท์มาผึ่งลมให้แห้งก่อนและนำเศษสิ่งสกปรกออกจากเต็นท์ แล้วจึงปิดซิปให้เรียบร้อย
3. ไม่ควรใช้สารเคมีในการทำความสะอาดเต็นท์ เพราะสารเคมีเหล่านี้จะทำลายสารที่เคลือบเต็นท์ไว้ ควรใช้แค่ผ้าชุบน้ำเช็ดก็พอ ห้ามใช้แปรงขัดเพราะแปรงจะทำให้สารเคลือบหลุดออกเช่นกัน
4. ใช้ผ้าพลาสติกปูรองพื้น ผ้ารองพื้นจะใช้ปูรองพื้นก่อนกางเต็นท์ ประโยชน์คือ ช่วยปกป้องตัวเต็นท์ จากหินและกิ่งไม้อันแหลมคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้พื้นเต็นท์เกิดความเสียหายได้ และนอกจากนี้ยังช่วยลดเวลาในการทำความสะอาด เพราะเราเพียงแต่ทำความสะอาดที่ผ้าปูเท่านั้น
5. ใช้สมอบกปักเต็นท์ บางคนอาจคิดว่าสมอบกไม่จำเป็น เพราะเต็นท์สามารถทรงตัวได้อยู่แล้ว แต่บางครั้งเมื่อลมแรง เต็นท์อาจจะมีการพลิกซึ่งอาจจะทำให้เต็นท์เสียหายถ้าช่วงที่คุณกางเต็นท์มีลมแรงควรจะนำสัมภาระเข้าไปไว้ในเต็นท์ แล้วปักสมอบกยึดไว้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเต็นท์พลิกจากแรงลมได้
6. ใช้อุปกรณ์ซ่อมแซมเต็นท์ถ้าจำเป็น หากเต็นท์คุณเกิดการเสียหาย เช่น ผนังเต็นท์มีรอยฉีกขาด ควรใช้พวกผ้าเทปปิดรอยขาดนั้นไว้ มิฉะนั้นรอยขาดนั้นจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ (ลองคิดถึงเสื้อผ้าที่ขาดดู ถ้าเรายิ่งดึงก็จะยิ่งขาดมากขึ้น) อุปกรณ์ซ่อมแซมเต็นท์สามารถหาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์ทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น