เรื่องที่ 3 ลูกเสือกับการพัฒนาความเป็นพลเมืองดี
การลูกเสือเป็นขบวนการทางการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีวัตถุประสงค์
เพื่อสร้างบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ โดยใช้วิธีการของลูกเสือที่ยึดมั่นในกฎและคำปฏิญาณ ซึ่งลูกเสือกับการพัฒนา
ความเป็นพลเมืองดีเกี่ยวกับความหมายของพลเมืองดี ความเป็นพลเมืองดีในทัศนะของ
การลูกเสือ และแนวทางการพัฒนาการลูกเสือไทยเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ดังนี้
3.1 ความหมายของพลเมืองดี
พลเมืองดี หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี
และวัฒนธรรมของชาติ คำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกัน
และกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของศาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติได้ครบถ้วนทั้งภารกิจที่ต้องทำและภารกิจที่ควรทำภารกิจที่ต้องทำ หมายถึง สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำหรือห้ามกระทำถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวม แล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำคุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุภารกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น
ภารกิจที่ควรทำ หมายถึง สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ควรทำ หรือ
ควรละเว้นการกระทำถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย
ถ้าทำจะได้รับการยกย่อง สรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจ
ที่ควรทำ ได้แก่ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น
3.2 ความเป็นพลเมืองดีในทัศนะของการลูกเสือ
กิจกรรมลูกเสือ เป็นการจัดมวลประสบการณ์ที่มีประโยชน์ และท้าทาย
ความสามารถ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลพัฒนาศักยภาพของตนเอง และสร้างลักษณะนิสัยไม่เห็นแก่ตัวและพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อให้มีอาชีพและให้ “บริการ” แก่บุคคลและสังคมสามารถดำเนินชีวิตของตนเอง เป็นผู้มีความรับผิดชอบตามหน้าที่ของตน และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขกิจกรรมลูกเสือ เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาบุคคลทั้งทางกาย สติปัญญา
ศีลธรรม จิตใจ เพื่อให้เป็นพลเมืองดี รู้จักหน้าที่รับผิดชอบ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน
สังคม และประเทศชาติในทัศนะของการลูกเสือ คำว่า “พลเมืองดี” คือ บุคคลที่มีเกียรติ เชื่อถือได้มีระเบียบวินัย สามารถบังคับใจตนเอง สามารถพึ่งตนเองและสามารถที่จะช่วยเหลือชุมชนและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม สถานภาพของตนเองและขีดความสามารถของตนเอง เพื่อป้องกันหรือไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว
การพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองดีในทัศนะของการลูกเสือ มีดังนี้
1) มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2) มีเกียรติเชื่อถือได้
3) มีระเบียบวินัย สามารถบังคับใจตนเองได้
4) สามารถพึ่งตนเองได้
5) เต็มใจและสามารถช่วยเหลือชุมชน และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ทุกเมื่อ
3.3 แนวทางการพัฒนาการลูกเสือไทยเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี
สภาพการจัดการการลูกเสือไทยในอดีตและปัจจุบันในด้านการปฏิบัติและ
การส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีที่เกิดจากกระบวนการลูกเสือไทยของกลุ่มบุคคลทั่วไป
ผู้อำนวยการลูกเสือ ผู้กำกับลูกเสือ และลูกเสือ สะท้อนให้เห็นภาพรวมของการลูกเสือที่ผ่านมาได้ว่า กระบวนการลูกเสือไทยในอดีตและปัจจุบันมีความสอดคล้องกันในด้านการสอนให้ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รู้จักการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี และมีการฝึกวินัยให้ลูกเสือเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ถึงกระนั้นการลูกเสือไทยยังต้องเร่งพัฒนาให้ลูกเสือมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวม เพราะสังคมปัจจุบันต้องการผู้มีจิตอาสาในการร่วมกันช่วยเหลือสังคมและพัฒนาประเทศ นอกจากนี้การจัดการลูกเสือไทยในอดีตและปัจจุบันยังมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของการนำทักษะทางการลูกเสือไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีบริบทแตกต่างกันทั้งความเจริญด้านวัตถุและเทคโนโลยี สำหรับการจัดกิจกรรมลูกเสือสามารถส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีได้ในทุกด้าน เพราะผู้กำกับลูกเสือได้จัดกิจกรรมลูกเสือตามแนวทางการจัดกิจกรรมลูกเสือที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนด ส่วนการจัดการลูกเสือไทยในด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการลูกเสือทั้งในอดีตและปัจจุบันมีความสอดคล้องกันที่ต้องการให้ครูและบุคลากรทางการลูกเสือได้รับการพัฒนาทักษะการสอนด้านการลูกเสือมากขึ้นดังนั้น แนวทางการพัฒนาการลูกเสือไทยเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ทำได้โดยการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจของการลูกเสือไทย เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีเพื่อเป็นแม่บทและแนวทางเดียวกันในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นที่ตัวเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เป็นพลเมืองดีของชาติและพลโลกตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการลูกเสือ พ.ศ. 2551 และมีพันธกิจที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีจิตสาธารณะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมมีคุณธรรม รู้จักหน้าที่ของตนและไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ ควรจัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติและมีหน่วยงานหลักรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ควรแยกบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่ให้การศึกษาแก่ลูกเสือในสถานศึกษาออกจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความรู้ผู้กำกับลูกเสือ เพื่อให้การทำงานไม่เกิดความซ้ำซ้อนและลดขั้นตอนการทำงาน ในส่วนของคณะกรรมการตามโครงสร้างของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551
ควรมีความเชื่อมโยงบทบาทหน้าที่การดูแลงานลูกเสือในทุกระดับ และลดช่องว่างของการ
ทำงานในกระบวนการลูกเสือ โดยมีการควบคุมให้มีการดำเนินงานตามแผนงาน ระยะเวลาและเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ มีการจัดสรรและใช้งบประมาณตามที่ได้รับอนุมัติด้านอัตรากำลังควรมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบประสานงานด้านนี้โดยตรงเพื่อลดทอนภาระหน้าที่ของบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติงานด้านการลูกเสือได้อย่างมีประสิทธิภาพด้านแนวทางการจัดกิจกรรมลูกเสือกิจกรรมลูกเสือที่จัดต้องเหมาะสมกับวัยของลูกเสือในแต่ละประเภทและมีความหลากหลายสามารถปฏิบัติได้จริง เหมาะสมกับยุคสมัยและตรงตามความต้องการของลูกเสือทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการของลูกเสือ และควรมุ่งเน้นให้ลูกเสือเป็นผู้มีจิตอาสามีวินัยและรู้จักหน้าที่ของตนด้วยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) ที่เกิดจากกระบวนการกลุ่มโดยยึดกฎและคำปฏิญาณของลูกเสือเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้ลูกเสือได้ประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติและซึมซับกับธรรมชาติที่แท้จริงรวมทั้งต้องพัฒนาให้ผู้กำกับลูกเสือปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกเสือและเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ อาทิ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือที่ถูกต้องทุกครั้งที่มีการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ
นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้มีความรู้และทักษะทางการลูกเสือเพื่อสามารถถ่ายทอดวามรู้และประสบการณ์ให้ลูกเสือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ การจัดกิจกรรมลูกเสือจะดำเนินการตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครองหลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก ทั้งนี้ข้อบังคับฯ ดังกล่าวยังมิได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ จึงควรมีการทบทวนปรับปรุงข้อบังคับฯ ให้เป็นปัจจุบันและสอดรับกับพระราชบัญญัติลูกเสือ กอปรกับเพื่อเป็นแนวทางเดียวกันในการจัดกิจกรรมลูกเสือให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านการลูกเสือต่อไป
ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการลูกเสือไทยครูและบุคลากรทางการลูกเสือเป็นกลุ่มบุคคลที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น ในการคัดเลือกหรือกำหนดตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นครูและบุคลากรทางการลูกเสือ จึงต้องมีเกณฑ์คุณลักษณะที่เหมาะสมโดยเฉพาะครูที่จะมาเป็นผู้กำกับลูกเสือต้องเป็นผู้มีความรักศรัทธาและเห็นคุณค่าในการลูกเสือ มีความเสียสละอดทน และมีภาวะผู้นำ มีความรู้และทักษะการลูกเสือ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเสมอรวมทั้ง สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัยและสังคมของเด็กในแต่ละยุคสมัยได้ ครูและบุคลากรทางการลูกเสือจึงควรได้รับการพัฒนาให้มีความรอบรู้อยู่เสมอ ผู้บริหารจึงต้องสนับสนุนให้ได้เข้าอบรมและเข้าร่วมกิจกรรมทางการลูกเสืออย่างต่อเนื่อง ครูและบุคลากรทางการลูกเสือไม่ได้เรียนมาทางการลูกเสือโดยตรง จึงขาดทักษะในการจัดกิจกรรมลูกเสือ ดังนั้น จึงควรจัดทำ
หลักสูตรด้านการลูกเสือโดยตรงสำหรับการศึกษาระดับปริญญา เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านการลูกเสือให้สามารถพัฒนาการลูกเสือให้รุกหน้าต่อไป นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมและสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการลูกเสือเพื่อเป็นแรงกระตุ้นและผลักดันให้บุคคลปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจพร้อมที่จะทำงานให้หน่วยงานด้วยการส่งเสริมให้นำผลงานทางการลูกเสือขอเลื่อนวิทยฐานะ การสร้างขวัญและกำลังใจ โดยมีค่าตอบแทนให้กับครูหรือบุคลากรทางการลูกเสือที่ปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ การนำชั่วโมงการสอนกิจกรรมลูกเสือมาคิดภาระงานได้ การประกาศเกียรติคุณสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการลูกเสือดีเด่น และการสร้างคุณค่าให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านการลูกเสือด้านการสร้างเครือข่ายการลูกเสือไทยการลูกเสือไทยเป็นการทำงานในลักษณะมหภาคครอบคลุมลูกเสือ ครูและบุคลากรทางการลูกเสือทั่วประเทศ จึงควรสร้างเครือข่ายการลูกเสือให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่ร่วมทำงานเพื่อการลูกเสือและมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี โดยเครือข่ายการลูกเสือควรประกอบด้วย สำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นแกนหลัก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการลูกเสือ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อประสานความร่วมมือ ให้การสนับสนุนในกิจการลูกเสือและร่วมจัดกิจกรรมลูกเสือ การสร้างเครือข่ายการลูกเสือในระดับนโยบายควรเป็นการกำหนดและแบ่งภารกิจ อำนาจหน้าที่ วิธีปฏิบัติ การจัดการร่วมกันของภาคีเครือข่ายตามข้อตกลง
ที่ได้ทำไว้ร่วมกัน สำหรับระดับปฏิบัติควรใช้วิธีการร่วมกันเป็นผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมลูกเสือในแต่ละโครงการ การร่วมเป็นคณะกรรมการในกิจกรรมต่าง ๆ ทางการลูกเสือ ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจของสมาชิกในเครือข่าย และในการทำกิจกรรมต้องมีลักษณะเท่าเทียมหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องไม่กระทบกับตัวบุคคลหรือองค์กรของสมาชิกเครือข่ายด้วยการสร้างเครือข่ายที่ดีนั้น สมาชิกเครือข่ายต้องมีความรู้สึกผูกพันกัน มีการรับรู้ภารกิจในมุมมองเดียวกัน มีวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายร่วมกัน มีผลประโยชน์ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมเท่าเทียมกัน (win - win) การมีส่วนร่วมของสมาชิก มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและลดจุดอ่อนของกันและกัน มีการเกื้อหนุนพึ่งพาและปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากสร้างเครือข่ายการลูกเสือไทย
ขึ้นได้แล้ว จะทำให้การพัฒนาการลูกเสือไทยกระทำได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้หรือประสบการณ์จากกลุ่มสมาชิก ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน สร้างความร่วมมือและระบบการทำงานที่เอื้อประโยชน์ต่อกันในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายด้านปัจจัยเกื้อหนุนต่อการพัฒนาการลูกเสือไทยนับจากที่การลูกเสือก่อกำเนิดมาเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีนั้นบุคคลในวงการ
ลูกเสือต่างรู้ถึงคุณค่าของการลูกเสือที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการลูกเสือ นั่นเพราะการลูกเสือยังขาดการประชาสัมพันธ์และการปฏิบัติอย่างจริงจังที่แสดงให้เห็นถึงคุณความดีของบุคคลที่เกิดจากกระบวนการการลูกเสือ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างคุณค่าของการลูกเสือให้เป็นที่ประจักษ์กับสาธารณชน การที่ประเทศไทยมีจำนวนลูกเสือมากในลำดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการจัดการข้อมูลของการลูกเสือ ซึ่งฐานข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการ เพราะเป็นส่วนสนับสนุนในการตัดสินใจของผู้บริหารและช่วยการทำงานของผู้ปฏิบัติให้มีความรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ นอกจากนี้บุคลากรถือเป็นปัจจัยหลักของการจัดการ โดยเฉพาะผู้บริหารของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงต่อการลูกเสือไทย ซึ่งหลายคนมิได้มีหน้าที่เฉพาะในการลูกเสือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่มาโดยตำแหน่งตามโครงสร้างที่ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารกลุ่มนี้ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลูกเสือให้มาก ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติควรเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะการลูกเสือและปฏิบัติงานเต็มเวลา เป็นผู้มีอุดมการณ์ทางการลูกเสือและมีสมรรถนะทางการจัดการ
กิจกรรมท้ายเรื่องที่ 3 ลูกเสือกับการพัฒนาความเป็นพลเมืองดี
(ให้ผู้เรียนไปทำกิจกรรมท้ายเรื่องที่ 3 ที่สมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดวิชา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น