เรื่องที่ 2 ความสำคัญของการลูกเสือกับการพัฒนา
การลูกเสือทั่วโลกมีจุดประสงค์ หลักการ วิธีการ และอุดมการณ์เดียวกัน คือ
การพัฒนาศักยภาพบุคคลให้เป็นพลเมืองดี มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบในการพัฒนา
ตนเอง การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และการพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและ
สังคม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 การพัฒนาตนเอง
การพัฒนาตนเอง หมายถึง ความต้องการของบุคคลในการพัฒนาความรู้
ความสามารถของตนจากที่เป็นอยู่ให้มีความรู้ ความสามารถและพัฒนาศักยภาพของตนเอง
ให้เพิ่มขึ้นและดีขึ้นในการพัฒนาทางกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา สังคม ความรู้ อาชีพ และ
สิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) การพัฒนาทางกาย หมายถึง การพัฒนาสุขภาพ อนามัย ให้ร่างกาย
สมบูรณ์ แข็งแรง รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ กริยาท่าทาง การแสดงออก การใช้น้ำเสียง วาจา
การใช้คำพูดในการสื่อความหมาย และการแต่งกายที่สะอาด เหมาะสมกับกาลเทศะ เหมาะกับ
รูปร่างและผิวพรรณ
2) การพัฒนาทางจิตใจ หมายถึง การพัฒนาเจตคติที่ดี หรือความรู้สึก
ที่ดี หรือการมองโลกในแง่ดี รวมถึงการพัฒนาสุขภาพจิตของตนเองให้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็น
ปกติ และ เป็นสุข โดยมีคุณธรรมเป็นหลักในการพัฒนาจิตใจ
3) การพัฒนาทางอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการ
ควบคุมความรู้สึก นึกคิด การควบคุมอารมณ์ที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น โดยมีธรรมะ
เป็นหลักพัฒนาทางอารมณ์
4) การพัฒนาทางสติปัญญา หมายถึง การพัฒนาทักษะการเรียนรู้
ด้วยการชี้นำตนเอง การพัฒนาความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การพัฒนา
กระบวนการทางความคิดเชิงวิเคราะห์ การตัดสินใจด้วยความเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบ
ปฏิญาณภูมิคุ้มกันที่ดีในตน และมีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ และมีเหตุผลที่ดี
5) การพัฒนาทางสังคม หมายถึง การพัฒนาความเป็นพลเมืองดี คิดดี
ทำดี มีจิตสาธารณะ สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
6) การพัฒนาทางความรู้ หมายถึง การพัฒนาความรอบรู้ทางวิชาการ
และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ
7) การพัฒนาทางอาชีพ หมายถึง การพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้
ความสามารถ ความชำนาญการทางอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
โดยการฝึกทักษะฝีมือ
8) การพัฒนาสิ่งแวดล้อม หมายถึง การกระตุ้น และรักษา ตลอดจน
แสวงหาแนวทางที่จะทำให้สิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในคุณค่าและการดูแลการรักษา
2.2 การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หมายถึง ความผูกพัน ความเกี่ยวข้อง
เป็นกระบวนการติดต่อเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อทำความรู้จักกัน
โดยวัตถุประสงค์ร่วมกันด้วยความเต็มใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน อาศัยการแสดงออกทางกายวาจา และใจ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจไม่จำกัดแน่นอน สามารถอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นโดยอาศัยความอดทนในการอยู่ร่วมกันการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มที่ตนเอง ดังนี้
1) รู้จักปรับตนเองให้มีอารมณ์หนักแน่น ไม่หวาดระแวง ไม่อ่อนแอหรือ
แข็งกระด้าง ไม่เปลี่ยนแปลงหรือผันแปรง่าย
2) รู้จักปรับตนเองให้เข้ากับบุคคล และสถานการณ์ รวมทั้งยอมรับและ
ปฏิบัติตามกฎ กติกา ระเบียบต่าง ๆ รู้จักบทบาทของตนเอง
3) รู้จักสังเกต รู้จด และรู้จำ การสังเกตจะช่วยให้เราสามารถเข้ากับทุกคน
ทุกชั้น ทุกเพศ และทุกวัยได้ดี
4) รู้จักตนเองและประมาณตน ช่วยให้คนลดทิฐิ และเห็นความสำคัญ
ของผู้อื่น ซึ่งช่วยสร้างความพึงพอใจให้แก่กัน
5) รู้จักสาเหตุและใช้เหตุผลต่อผู้อื่น ช่วยลดความวู่วาม ทำให้การคบหากันไปด้วยดี
6) มีความมั่นใจในตนเอง และเป็นตัวของตัวเอง
2.3 การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม
การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม หมายถึง กระบวนการ
เปลี่ยนแปลงภายในสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม
เพื่อประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัยการศึกษา การมีงานทำ มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาคความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบการพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ตนเอง ดังนี้
1) พัฒนาบุคลิกภาพให้ผู้พบเห็นเกิดความชื่นชมและประทับใจด้วยการ
พูดและกิริยาท่าทาง
2) พัฒนาพฤติกรรมการแสดงออกด้วยความจริงใจ ใจกว้าง ใจดี
3) ให้ความช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจกรรมและงานส่วนรวมด้วยความ
มีน้ำใจและเสียสละ
4) ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
5) ร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมให้ดีขึ้น
6) พูดคุยกับทุกคนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตรกับทุกคน
7) ยึดหลักปฏิบัติตามค่านิยมพื้นฐาน คือ การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร
มีความรับผิดชอบ ประหยัดและออม มีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาสัมพันธภาพต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสำรวจสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจและร่วมมือในการจัดกิจกรรม ตลอดจนการบำรุงรักษาให้เกิดประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาลูกเสือ 8 ประการ คือ
1) การพัฒนาทางกาย คือ การจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ลูกเสือได้
ออกกำลังกายอย่างเต็มที่ และทำให้ร่างกายแข็งแรง เช่น การเล่นเกม การเดินทางไกลอยู่
ค่ายพักแรม การฝึกว่ายน้ำ เล่นฟุตบอล เป็นต้น ให้เหมาะสมกับสภาพอนามัยและอายุ
ของเด็ก ไม่ใช่กิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเกินไป หรือเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก ๆ
2) การพัฒนาทางสติปัญญา คือ การจัดกิจกรรมที่เร้าใจให้ลูกเสือได้
ปฏิบัติอันเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ วิธีการบางอย่างที่ได้นำมาใช้
ในการพัฒนาทางสติปัญญา ได้แก่ งานประเภทงานผีมือต่าง ๆ เช่น การประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ การทำงานด้วยเครื่องมือ การชุมนุมรอบกองไฟ การแสดงหุ่นกระบอก เป็นต้น
3) การพัฒนาทางจิตใจและศีลธรรม ผู้กำกับลูกเสือจะช่วยพัฒนาจิตใจ
และศีลธรรมให้แก่ลูกเสือได้โดยส่งเสริมให้มีความซาบซึ้งในศาสนา ด้วยการฟังเทศน์ ไหว้พระสวดมนต์ การปฏิบัติศาสนกิจและการไปทำบุญทำทานที่วัด พัฒนาแนวความคิดทางศาสนาเช่น การเชื่อคำสอนในพระพุทธองค์ การเชื่อในอำนาจลึกลับบางอย่างที่ดลบันดาลความหวังให้แก่ชีวิต กระตุ้นให้เด็กปฏิบัติตามและเชื่อถือตามพ่อแม่ กิจการลูกเสือสามารถที่จะเชื่อมโยงกับศาสนาต่าง ๆ ได้
4) การพัฒนาในเรื่องการสร้างค่านิยมและเจตคติ ผู้กำกับลูกเสือต้อง
พยายามสร้างค่านิยมและเจตคติที่ดีในสิ่งแวดล้อมทั่วไปให้เด็กเห็น และปลูกฝังลงไปในตัวเด็กโดยการแสดงภาพที่ดีที่มีค่านิยม อภิปรายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกเสือแต่ละคนหรือกับกลุ่มลูกเสือทุกโอกาส เพื่อว่าลูกเสือจะได้พบด้วยตัวเองว่าค่านิยม เจตคติและมาตรฐานอะไรที่มีคุณค่าอย่างยิ่งยวด
5) การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ผู้กำกับจะต้องช่วยเหลือให้
ลูกเสือสร้างสัมพันธภาพอย่างฉันท์มิตรกับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นก็ให้ลูกเสือ
ได้ทดสอบความสามารถหรือทักษะของเขาในการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์กับผู้กำกับลูกเสือ
และทดสอบความสามารถในการผูกมิตรกับเด็กชายหญิงในวัยเดียวกันกับเขา
6) การพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคม ผู้กำกับลูกเสือควรตระหนักถึง
การพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมว่า เป็นเสมือนส่วนหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในกิจการของลูกเสือ กลุ่มลูกเสือควรจะมีความสามารถที่จะทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียวราบรื่น ลูกเสือควรจะได้เรียนรู้ถึงการให้ความร่วมมือ การให้และการรับแสดงบทบาทผู้กำกับ และเรียนรู้ถึงการยอมรับในคุณค่าและบุคลิกภาพของบุคคลอื่น ๆ เพราะไม่มีใครจะอยู่ได้อย่างเดียวดาย ระบบหมู่ของลูกเสือจะช่วยให้ลูกเสือแต่ละคนเข้าร่วมกันเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยบุคคลในรุ่นเดียวกัน และมีความสนใจคล้ายคลึงกันในสภาพเช่นนี้ ลูกเสือสามารถทดลองทักษะในการทำงานในกลุ่มเล็กๆซึ่งจะมีส่วนช่วยเขาในอนาคตทั้งที่ทำงานและที่บ้าน
7) การพัฒนาสัมพันธภาพต่อชุมชน คือ ความพร้อมและความสามารถให้บริการแก่ผู้อื่น ผู้บังคับบัญชาควรกระตุ้นให้ลูกเสือได้เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนอย่างเข้มแข็งไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ประจำเฉพาะตัว หรือปฏิบัติการร่วมกันทั้งหมู่ในโครงการ
บำเพ็ญประโยชน์ เจตคติและทักษะดังกล่าวจะเป็นทักษะที่มีค่าและสำคัญ ถ้าในวันหนึ่งลูกเสือได้รับการกระตุ้นให้เป็นผู้ที่มีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคม ชุมชนในสังคมนั้นก็จะมีความประทับใจในผลงานของลูกเสือ
8) การพัฒนาทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม คือ การส่งเสริม
ให้ลูกเสือได้มีความเพลิดเพลินกับชีวิตกลางแจ้ง ส่งเสริมให้รู้จักรักธรรมชาติและรักษาธรรมชาติการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จในการลูกเสือ เพราะธรรมชาติให้บทเรียนว่า คนเราสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างไร รวมทั้งสอนให้รู้จักการดำรงชีวิตตลอดไปจนถึงการแสวงหาความสุขจากชีวิตอีกด้วย ความรู้พิเศษในเรื่องของธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเปิดดวงจิตและความคิดของเด็กให้รู้คุณค่าความงามของธรรมชาติ เมื่อนิยมไพรได้ฝังอยู่ในดวงจิตของเด็กแล้ว การสังเกต การจดจำ การอนุมานจะได้รับการพัฒนาขึ้นโดยอัตโนมัติจนกลายเป็นนิสัย อีกประการหนึ่งในปัจจุบันประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงความต้องการที่จะป้องกันและอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งรัฐบาลและองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติต่าง ๆ กำลังดำเนินการอย่างเข้มแข็งที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนให้คิดและดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวมีวิถีทางอย่างมากมายที่ลูกเสือสามารถปฏิบัติและช่วยเหลือในการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ เช่น การรณรงค์ต่อต้านการทิ้งเศษสิ่งของลงในที่สาธารณะ การทำความสะอาดทางระบายน้ำการปลูกต้นไม้ การจัดภาพแสดงการอนุรักษ์ปิดไว้ตามที่สาธารณะ เป็นต้น
กิจกรรมท้ายเรื่องที่ 2 ความสำคัญของการลูกเสือกับการพัฒนา
(ให้ผู้เรียนไปทำกิจกรรมท้ายเรื่องที่ 2 ที่สมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดวิชา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น