วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

11.2 วิธีการปฐมพยาบาลกรณีต่างๆ


เรื่องที่ 2 วิธีการปฐมพยาบาลกรณีต่าง ๆ
2.1 วิธีการปฐมพยาบาลกรณีอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ความหมายในเชิงวิศวกรรมความปลอดภัยนั้น อุบัติเหตุ ยังมีความหมายครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนการผลิตปกติ ทำให้เกิดความล่าช้า หยุดชะงัก หรือเสียเวลาแม้จะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือพิการก็ตาม เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือทางถนนอุบัติเหตุทางน้ำอุบัติเหตุทั่วไป เป็นต้น
อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือทางถนน
อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้เข้าช่วยเหลือได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ      ซ้ำซ้อน จึงมีข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอย่างถูกวิธี ดังนี้
1. ประเมินสถานการณ์ จากสภาพแวดล้อมและสภาพการจราจรของจุดเกิดเหตุโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนหรือทัศนวิสัยไม่ดี ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
2. ส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางเพิ่มความระมัดระวัง โดยเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินของรถคันที่เกิดเหตุ นำกิ่งไม้ ป้ายสามเหลี่ยม หรือกรวยสะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถห่างจากจุดเกิดเหตุในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร
3. โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมให้ข้อมูลจุดเกิดเหตุ จำนวนและอาการของผู้บาดเจ็บ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้วางแผนให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างถูกต้อง
4.ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำ ดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติหยุดหายใจ-หัวใจหยุดเต้นและเสียเลือดมาก กรณีผู้ประสบเหตุบาดเจ็บเล็กน้อยให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ
5.หากไม่มีทักษะการช่วยเหลือ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง ควรรอให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ และนำส่งสถานพยาบาล จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิต
การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย และทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย จึงช่วยลดอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี
อุบัติเหตุทางน้ำ
อุบัติเหตุทางน้ำอาจเกิดจากสาเหตุที่สำคัญ 2 ประการ คือ ตัวบุคคล และสภาพแวดล้อม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุทางน้ำ มักเกิดจากความประมาท และการกระทำที่ไม่ปลอดภัยของผู้ขับเรือ และ   ผู้โดยสารอย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบเหตุที่จะได้รับอันตราย คือ ผู้ที่อยู่ในสภาวะจมน้ำ และขาดอากาศหายใจ ในที่นี้จึงยกตัวอย่างวิธีการปฐมพยาบาลกรณีจมน้ำ ดังนี้
การจมน้ำ
การจมน้ำทำให้เกิดอันตรายจากการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองการช่วยชีวิตและการกู้ฟื้นคืนชีพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอดชีวิตมี วิธีการปฐมพยาบาล ดังนี้
(1) จัดให้นอนตะแคงกึ่งคว่ำ รีบตรวจสอบการหายใจ
(2) ถ้าไม่มีการหายใจให้ช่วยกู้ชีพทันที
(3) ให้ความอบอุ่นกับร่างกายผู้จมน้ำโดยถอดเสื้อผ้าที่เปียกน้ำออกและใช้ผ้าแห้งคลุมตัวไว้
(4) นำส่งสถานพยาบาล
ข้อควรระวัง
(1) กรณีผู้จมน้ำมีประวัติการจมน้ำ เนื่องจากการกระโดดน้ำหรือเล่นกระดานโต้คลื่น การช่วยเหลือต้องระวังเรื่องกระดูกหัก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้จมน้ำ โดยเมื่อนำผู้จมน้ำขึ้นถึงน้ำตื้นพอที่ผู้ช่วยเหลือจะยืนได้สะดวกแล้วให้ใช้ไม้กระดานแข็งสอดใต้น้ำรองรับตัวผู้จมน้ำใช้ผ้ารัดตัวผู้จมน้ำให้ติดกับไม้ไว้
(2) ไม่ควรเสียเวลากับการพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือกระเพาะอาหาร
(3) หากไม่สามารถนำผู้จมน้ำขึ้นจากน้ำได้โดยเร็วอาจเป่าปากบนผิวน้ำโดยหลีกเลี่ยงการเป่าปากใต้น้ำ และห้ามนวดหน้าอกระหว่างอยู่ในน้ำ
         อุบัติเหตุทั่วไป (ตกจากที่สูง หกล้ม ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก)
อุบัติเหตุทั่วไป เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทุกที่ ทุกเวลา และเกิดได้กับบุคคล ทุกเพศ และทุกวัย เช่น การตกจากที่สูง หกล้ม ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น
1. การตกจากที่สูง
การตกจากที่สูง สามารถทำให้เกิดอันตรายได้รุนแรงมากน้อยต่าง ๆ กันไปเช่น ตกจากที่สูงมากอาจทำให้เสียชีวิต ทำให้กระดูกสันหลังหัก กดไขสันหลัง กลายเป็นอัมพาตอาจทำให้กระดูกส่วนต่าง ๆ หัก ในรายที่รุนแรงอาจเป็นกระดูกซี่โครงหัก ทำให้เกิดเลือดออกในช่องปอด และอาจทำให้อวัยวะภายในช่องท้องที่สำคัญแตกเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งนี้ จากการตกจากที่สูงส่วนใหญ่จะส่งผลก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูก ดังนี้
1.1 ข้อเคล็ด หมายถึง การที่ข้อมีการเคลื่อนไหวมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่ออ่อน ๆและเอ็นรอบ ๆ ข้อ หรือกล้ามเนื้อ มีการชอกช้ำ ฉีกขาด หรือยึด เนื่องจากข้อนั้นถูกบิด พลิก หรือแพลงไปทำให้เจ็บปวดมาก
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) ให้ข้อพักนิ่ง ๆ
(2) ควรยกมือหรือเท้าที่เคล็ดให้สูงขึ้น ถ้าเป็นข้อมือควรใช้ผ้าคล้องแขนไว้
(3) ภายใน 24 ชั่วโมงแรกให้ประคบด้วยความเย็น เพื่อให้เลือดใต้ผิวหนังหยุดไหล หลังจากนั้นให้ประคบด้วยความร้อน
(4) พันด้วยผ้า
(5) ภายใน 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจให้แน่นอนว่าไม่มีกระดูกหักร่วมด้วย
1.2 ข้อเคลื่อน หมายถึง ส่วนของข้อต่อบริเวณปลายกระดูกเคลื่อนหรือหลุดออกจากที่เกิดจากการถูกกระชากอย่างแรง หรือมีโรคที่ข้ออยู่ก่อนแล้ว เช่น วัณโรคที่ข้อสะโพก
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) ให้ข้อพักนิ่ง อย่าพยายามดึงกลับเข้าที่
(2) ประคบด้วยความเย็น
(3) เข้าเฝือกชั่วคราว หรือใช้ผ้าพัน
(4) รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหาร น้ำ และยาทุกชนิด
1.3 กระดูกหัก หมายถึง ภาวะที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากเกินไปส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากแรงกระแทกได้ ก่อให้เกิดอาการปวด บวม ร้อนบริเวณที่หัก ถ้าจับกระดูกนั้นโยกหรือบิดเล็กน้อยจะมีเสียงดังกรอบแกรบ เนื่องจากปลายกระดูกที่หักนั้นเสียดสีกัน การเคลื่อนไหวผิดปกติอาจมีบาดแผล และพบปลายกระดูกโผล่ออกมาเห็นได้
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
การหักของกระดูกชิ้นสำคัญ เช่น กระดูกเชิงกราน กะโหลกศีรษะ ขากรรไกร คอ และกระดูกสันหลัง ต้องการการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เพราะการหักของกระดูกเหล่านี้จะทำอันตรายอย่างรุนแรงต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียงกะโหลกศีรษะแตกและสันหลังหักเป็นอันตรายมากที่สุดเพราะว่าเนื้อสมองและไขสันหลังถูกทำลายทั้งนี้ เมื่อมีภาวะกระดูกแตกหักในบริเวณกระดูกที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว ผู้ปฐมพยาบาลต้องจัดให้มีการเข้าเฝือก ซึ่งการเข้าเฝือก หมายถึง การใช้วัสดุต่าง ๆ พยุง หรือห่อหุ้มอวัยวะที่กระดูกหักให้อยู่นิ่ง ซึ่งมีประโยชน์ช่วยให้บริเวณที่บาดเจ็บอยู่นิ่ง เป็นการบรรเทาความเจ็บปวดและป้องกันอันตรายเพิ่มมากขึ้นการปฐมพยาบาลกระดูกหักต้องพยายามตรึงกระดูกส่วนที่หักให้อยู่กับที่โดยใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น ไม้ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พับให้หนา รวมทั้งผ้า และเชือกสำหรับพันรัดด้วย
กระดูกโผล่ออกมานอกเนื้อ ห้ามดันกลับเข้าไปเป็นอันขาด ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือด และปิดแผลก่อนทำการเข้าเฝือกชั่วคราวการตรวจบริเวณที่หัก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ปลายกระดูกที่หักเคลื่อนมาเกยกัน หรือทะลุออกมานอกผิวหนัง  การถอดเสื้อผ้าผู้บาดเจ็บ ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บอย่าพยายามให้ผู้บาดเจ็บถอดเอง เพราะจะทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้น 
หลักการเข้าเฝือกชั่วคราว
(1) วัสดุที่ใช้ดามต้องยาวกว่าอวัยวะส่วนที่หัก
(2) ไม่วางเฝือกลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นรอง เช่น ผ้า วางก่อนตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดลงบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งทำให้เจ็บปวด และเกิดเป็นแผลจากเฝือกกดได้
(3) มัดเฝือกกับอวัยวะที่หักให้แน่นพอควร ถ้ารัดแน่นจนเกินไปจะกดผิวหนังจนทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกเป็นอันตรายได้.
2. การหกล้ม
การหกล้มเป็นอาการหรือพฤติกรรมที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งหมายถึง การที่เกิดการเปลี่ยนท่าโดยไม่ตั้งใจ และเป็นผลให้ร่างกายทรุด หรือลงนอนกับพื้น หรือ ปะทะสิ่งของต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เตียง ทั้งนี้ จากการหกล้มอาจส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และสิ่งแวดล้อมในขณะที่เกิดเหตุ เช่น เกิดแผลเปิด บาดแผลปิด และการบาดเจ็บในลักษณะฟกช้ำ ไม่มีเลือดออก เป็นต้นจึงสามารถนำเสนอข้อมูลวิธีการปฐมพยาบาลได้ดังนี้
บาดแผล รอยฉีกขาด รอยแตกแยกของผิวหนัง หรือเยื่อบุส่วนที่ลึกกว่าชั้นผิวหนังถูกทำลาย ทำให้อวัยวะนั้นแยกจากกันด้วยสาเหตุต่าง ๆ บาดแผลแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
(1) บาดแผลเปิด คือ บาดแผลที่ผิวหนังฉีกขาดจนเห็นเนื้อข้างใน เช่น แผลถลอก แผลที่เกิดจากการเจาะ การแทง การกระแทก แผลถูกของมีคมบาด แผลฉีกขาดเนื่องจากวัตถุมีคมอาจลึกลงไปถึงเนื้อเยื่อ เส้นเอ็น ทำให้เสียเลือดมาก แขนขาขาดจากอุบัติเหตุถูกสัตว์ดุร้ายกัด หรือถูกยิง เป็นต้น ซึ่งบาดแผลบางอย่างอาจทำให้เสียเลือดมาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับบาดแผลที่มีเลือดออกก็คือการห้ามเลือดโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของคนเจ็บโดยตรง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้รีบล้างมือด้วยสบู่รวมทั้งบริเวณที่เปื้อนเลือดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าของคนเจ็บแม้ว่าจะเปื้อนเลือดจนชุ่มแล้ว เพราะอาจยิ่งทำให้เลือดออกมากหากสามารถทำได้ ควรทำความสะอาดแผลก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้าก็อซหรือผ้าสะอาดวางไว้ตรงบาดแผล ยกเว้นเมื่อเกิดบาดแผลที่ดวงตา เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บมากขึ้น แล้วใช้ผ้าสะอาดพันปิดแผลไว้ อย่าให้แน่นจนชา หากไม่มีผ้าพันแผล สามารถดัดแปลงสิ่งของใกล้ตัวมาใช้ได้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ชายเสื้อ ชายกระโปรง หรือเนคไท แผลที่แขนหรือขาให้ยกสูง จะช่วยให้เลือดไหลช้าลง ปกติเลือดจะหยุดไหลภายในเวลาประมาณ 15 นาที หากเลือดไหลไม่หยุด ให้กดเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงแขนขาโดยกดบริเวณเหนือบาดแผล ถ้าเลือดออกที่แขนให้กดแขนด้านใน ช่วงระหว่างข้อศอกและหัวไหล่ ถ้าเลือดออกที่ขาให้กดที่หน้าขาบริเวณขาหนีบการห้ามเลือดโดยการกดเส้นเลือดแดงใหญ่ควรทำก็ต่อเมื่อใช้วิธีการห้ามเลือดโดยการกดบาดแผลหรือใช้ผ้าพันแผลแล้วไม่ได้ผล เพราะจะทำให้อวัยวะที่ต่ำกว่าจุดกดขาดเลือดไปเลี้ยง หากกดนาน ๆ กล้ามเนื้ออาจตายได้ จึงไม่ควรกดเส้นเลือดแดงใหญ่เกินกว่าครั้งละ 15 นาที
สำหรับบาดแผลที่ศีรษะ ไม่ควรใช้น้ำล้างแผล เพราะจะทำให้ปิดขวางทางออกของแรงดันภายใน และสมองอาจติดเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ หากมีเลือดไหลออกจากปาก จมูกหรือหูอย่าพยายามห้ามเลือด เพราะจะปิดกั้นทางออกของแรงดันในสมองเช่นกัน
การทำความสะอาดบาดแผลเล็กน้อย
วิธีการปฐมพยาบาลบาดแผลเล็กน้อย ทำได้โดยล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนที่จะทำแผล ใช้น้ำสะอาดล้างแผล ใช้สบู่อ่อน ๆ ล้างผิวหนังที่อยู่รอบ ๆ บาดแผล แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง หลีกเลี่ยงการกระทบบาดแผลโดยตรง ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดซับแผลให้แห้ง แล้วใส่ยาสำหรับแผลสด เช่น โพวิโดนไอโอดีน ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อได้ จากนั้นเปิดแผลด้วยผ้าพันแผล
(2) บาดแผลปิด คือ บาดแผลที่ไม่มีรอยแผลให้เห็นบนผิวหนังภายนอกอาจเห็นเพียงแค่รอยเขียวช้ำ แต่บางกรณีเนื้อเยื่อภายในอาจถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้เลือดตกใน บางครั้งอวัยวะภายในได้รับความเสียหายมาก เช่น ม้ามแตก ตับแตก หรือเลือดคั่งในสมองระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนเจ็บอาจอาเจียน เลือดออกปาก หรือจมูกหนาวสั่น ตัวซีด เจ็บปวดรุนแรง หมดสติ และอาจเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก
แผลฟกซ้ำไม่มีเลือดออก
บาดแผลฟกซ้ำจะไม่มีเลือดออกมาภายนอก แต่เกิดอาการบวม ผิวเปลี่ยนสีและมีรอยฟกซ้ำ ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดบริเวณนั้นแตกแต่ผิวหนังไม่ฉีกขาด จึงทำให้เลือดซึมอยู่ใต้ผิวหนัง ระยะแรกจะมีสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำในเวลาต่อมาคนส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจกับแผลฟกซ้ำ แต่ความจริงแล้วแผลฟกซ้ำก็มีวิธีการดูแลที่ถูกต้องเช่นกัน ก่อนอื่นให้ตรวจดูว่าไม่มีบาดแผล หรืออาการอื่น ๆ หรือกระดูกหักร่วมด้วยให้คนเจ็บนั่งในท่าที่สบาย แล้วประคบแผลด้วยถุงน้ำแข็งหรือถุงน้ำเย็นเพื่อลดอาการบวมหากเป็นแผลที่แขนให้ใช้ผ้าสามเหลี่ยมคล้องแขนให้อยู่กับที่ หากเป็นแผลที่ขาให้นอนหนุนขาให้สูง หากเป็นที่ลำตัวให้นอนตะแคงหนุนหมอนที่ศีรษะและไหล 
3. ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก
บาดแผลไฟไหม้ น้ำ ร้อนลวก โดยมากมักจะมีสาเหตุจากอุบัติเหตุความประมาท ขาดความระมัดระวัง แผลไหม้จะทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงเสียชีวิตได้ การช่วยเหลืออย่างถูกต้องจะช่วยลดความรุนแรงได้
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
หลักการปฐมพยาบาลไฟไหม้น้ำร้อนลวกให้ดับไฟโดยใช้น้ำราด หรือใช้ผ้าหนา ๆ คลุมตัวถอดเสื้อผ้าที่ไหม้ไฟหรือถูกน้ำร้อน พร้อมถอดเครื่องประดับที่อมความร้อนออกให้หมดเมื่อเกิดแผลไหม้น้ำร้อนลวกให้ปฐมพยาบาลตามลักษณะของแผล ดังนี้
         1) เฉพาะชั้นผิวหนัง
(1) ระบายความร้อนออกจากแผล โดยใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผลแช่ลงในน้ำหรือเปิดให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลตลอดเวลา นานประมาณ 10 นาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้
(2) ทาด้วยยาทาแผลไหม้
(3) ห้ามเจาะถุงน้ำหรือตัดหนังส่วนที่พองออก
(4) ปิดด้วยผ้าสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
(5) ถ้าแผลไหม้บริเวณกว้าง หรืออวัยวะที่สำคัญต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
          2) ลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
(1)ไม่ต้องระบายความร้อนออกจากบาดแผล เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น
(2) ห้ามใส่ยาใด ๆ ทั้งสิ้นลงในบาดแผล
(3) ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวผู้บาดเจ็บเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกให้ความอบอุ่นและรีบนำส่งโรงพยาบาล
2.2 วิธีการปฐมพยาบาลกรณีการเจ็บป่วยโดยปัจจุบัน
2.2.1 การเป็นลม
การเป็นลม เป็นอาการหมดสติเพียงชั่วคราว เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สาเหตุและลักษณะอาการ ของคนเป็นลมที่พบบ่อย เช่น หิว เหนื่อย เครียด ตกใจ กังวลใจ  กลัว เสียเลือดมาก มีอาการวิงเวียนศีรษะ ตาพร่า หน้ามืด ใจสั่น มือเท้าไม่มีแรง หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น  ชีพจรเบา/เร็ว
         ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) พาเข้าที่ร่ม ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
(2) นอนราบไม่หนุนหมอน หรือยกปลายเท้าให้สูงเล็กน้อย
(3) คลายเสื้อผ้าให้หลวม
(4) พัดหรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเหงื่อตามหน้า มือ และเท้า
(5) ให้ดมแอมโมเนีย
(6) ถ้ารู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำ
(7) ถ้าอาการไม่ดีขึ้น นำส่งต่อแพทย์
2.2.2 ลมชัก
ลมชัก อาการชักของผู้ป่วย บางรายอาจชักด้วยอาการเหม่อลอย เริ่มกระตุกท่าทางแปลก ๆ ผิดปกติ ตาเหลือก อาจจะเริ่มทำท่าเหมือนเคี้ยวอะไรอยู่ หรือบางคนอาจจะเริ่มต้นด้วยอาการสับสน มึนงง พูดจาวกวนก่อนก็ได้ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการชัก
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) สังเกตว่าผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงกับขั้นสลบแต่จะควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการชัก แล้วลงไปกองกับพื้น พยายามพาเขามาอยู่ในที่โล่ง ๆ ปลอดภัย ไม่มีสิ่งของใด ๆ รอบตัว
(2) คลายกระดุม เนคไทที่คอเสื้อ เข็มขัดที่กางเกงหรือกระโปรง ถอดแว่นตา  นำหมอน หรือเสื้อพับหนา ๆ มารองไว้ที่ศีรษะ
(3) จับผู้ป่วยนอนตะแคง
(4) ไม่งัดปากด้วยช้อน ไม่ยื่นอะไรให้ผู้ป่วยกัด ไม่ยัดปากด้วยสิ่งของต่าง ๆ เด็ดขาด       ไม่กดท้อง ไม่ถ่างขา ไม่ทำอะไรทั้งนั้น
(5) จับเวลา ตามปกติผู้ป่วยลมชักจะมีอาการสงบลงได้เอง เมื่อผ่านไป 2 – 3 นาที หากมีอาการชักเกิน 5 นาทีควรรีบส่งแพทย์ (หรือกด 1669 บริการแพทย์ฉุกเฉิน)
(6) อย่าลืมอธิบายผู้คนรอบข้างด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น และขอความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น เช่น อย่ามุงผู้ป่วยใกล้ ๆ หรือช่วยเรียกรถพยาบาลกรณีที่ผู้ป่วยชักเกิน 5 นาทีหรือมีอาการบาดเจ็บ
ในกรณีที่ผู้ป่วยลมชักมีอาการกัดลิ้นตัวเอง ไม่ต้องตกใจ โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้กัดลิ้นตัวเองจนขาดหรือมีบาดแผลใหญ่มากนัก อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เผลอกัดลิ้นตัวเองจนได้รับบาดแผลมีเลือดออก แต่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิตมากเท่ากับการยัดสิ่งต่างๆเข้าไปในปากของผู้ป่วย ด้วยหวังว่าจะให้กัดแทนลิ้น เพราะมีหลายครั้งที่สิ่งของเหล่านั้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บหนักกว่าเดิม แผลที่กัดลิ้นใหญ่กว่าเดิม หรือผลัดหลุดเข้าไปติดในหลอดลม หลอดอาหาร
         2.2.3 การเป็นลมแดด
การเป็นลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤต ในภาวะปกติร่างกายจะมีระบบการปรับสมดุลความร้อน เมื่อความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น อาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกาย 41 องศาเซลเซียส หน้าร้อนแดงไม่มีเหงื่อ มีอาการเพ้อ ความดันลดลง กระสับกระส่าย มึนงง สับสน ชักเกร็ง หมดสติ โดยกลไกการทำงานของร่างกาย จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำ หรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับกล้ามเนื้อ ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
นำผู้ที่มีอาการเข้าในที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดถอดเสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ เช็ดตัวเพื่อระบายความร้อน และถ้ารู้สึกตัวดีให้    ค่อย ๆ จิบน้ำเย็น เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล
         2.2.4 เลือดกำเดาไหล
สาเหตุ มาจากการกระทบกระแทก การเป็นหวัด การสั่งน้ำมูกการติดเชื้อในช่องจมูก หรือความหนาวเย็นของอากาศ
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) ให้ผู้ป่วยนั่งนิ่งๆ เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
(2) ใช้มือบีบปลายจมูก และให้หายใจทางปากโดยบีบปลายจมูกไว้ 10 นาที ให้คลายมือออกถ้าเลือดยังไหลต่อให้บีบต่ออีก 10 นาทีถ้าเลือดไม่หยุดใน 20 นาทีให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
(3) ถ้ามีเลือดออกมาก ให้ผู้ป่วยบ้วนเลือดหรือน้ำลายลงในอ่าง หรือภาชนะที่รองรับ
(4) เมื่อเลือดหยุดแล้ว ใช้ผ้าสะอาดเช็ดบริเวณจมูกและปาก
ข้อห้าม
ห้ามสั่งน้ำมูกหรือล้วงแคะ ขยี้จมูก เพราะจะทำให้อาการแย่ลง 
         2.2.5 การหมดสติ
การหมดสติ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น สาเหตุเนื่องจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใกล้ผิวชั้นนอกมาทำให้เลือดไหลออกมาก แต่มีบางกรณีไม่มีเลือดไหลออกมาภายนอก ทำให้ผู้บาดเจ็บหมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจทำให้เสียชีวิต จึงต้องประเมินสถานการณ์และการบาดเจ็บ เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้หมดสติ
1. สำรวจสถานการณ์ บริเวณที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว ถ้าสถานการณ์ปลอดภัยให้ตะโกนเรียกผู้หมดสติ
2. หากไม่มีการตอบสนอง ใช้มือทั้ง 2 ข้างตบไหล่ เรียก พร้อมสังเกตการณ์ตอบสนอง (การลืมตา ขยับตัว และพูด) และดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก หน้าท้อง ถ้าพบว่ายังหายใจอยู่ให้รีบให้การช่วยเหลือ และขอความช่วยเหลือโดยการโทรเรียกรถพยาบาล1669แต่หากไม่ตอบสนองหน้าอกหน้าท้องไม่กระเพื่อมขึ้นลง แสดงว่า หมดสติและไม่หายใจ ต้องช่วยเหลือโดยการปั้มหัวใจ และการผายปอด
2.3 วิธีการปฐมพยาบาลกรณีสัตว์ แมง หรือแมลงที่มีพิษกัดต่อย
         2.3.1 สุนัข/แมว
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อเรบีส์ไวรัส โรคนี้เกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ดังนั้น เมื่อถูกสุนัขกัดจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
(1) ชำระล้างบาดแผล ด้วยการฟอกแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายครั้งให้สะอาดโดยการถูเบา ๆ เท่านั้น หากแผลลึกให้ล้างจนถึงก้นแผล แล้วซับแผลให้แห้งด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าที่สะอาด (ในกรณีน้ำลายสุนัขเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาเท่านั้น แต่ล้างหลาย ๆ ครั้ง)
(2) พบแพทย์เพื่อดูแลแผล และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ
ข้อสังเกต สำหรับสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่น สัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายจะกลายเป็นสัตว์ที่เชื่อง สัตว์ที่เชื่องจะกลายเป็นสัตว์ดุร้าย ตื่นเต้นกระวนกระวาย สุดท้ายจะเป็นอัมพาต และตายในที่สุด 
         2.3.2 งูมีพิษ/งูไม่มีพิษ
พิษจากการถูกงูกัด งูในประเทศไทย แบ่งเป็นงูมีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งจะมีลักษณะบาดแผลต่างกันคืองูพิษมีเขี้ยวอยู่ด้านหน้าของขากรรไกรบนและมีฟัน ส่วนงูไม่มีพิษมีแต่รอยฟันไม่มีรอยเขี้ยว
         ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
การปฐมพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องกระทำหลังถูกงูกัดทันทีก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด มีดังนี้
(1) รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ระหว่างนำส่งอาจใช้เชือก ผ้า หรือสายยางรัดแขนหรือขาระหว่างแผลงูกัดกับหัวใจเหนือรอยเขี้ยว ประมาณ 2 - 4 นิ้ว เพื่อป้องกันพิษงูถูกกัดซึมเข้าร่างกายโดยเร็วในปัจจุบันนักวิชาการบางท่านไม่แนะนำให้รีบทำการใช้เชือกรัดและขันชะเนาะ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลเสีย คือ การช่วยเหลือล่าช้าขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดเลือดบริเวณแขนหรือขา ทำให้พิษทำลายเนื้อเยื่อมากขึ้นดังนั้นถ้ารัดควรคำนึงถึงความเสี่ยงของการรัดด้วย โดยคลายเชือกทุก ๆ 15 นาที นานครั้งละ 30 - 60 วินาทีจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
ในกรณีที่ถูกงูมีพิษต่อเลือดกัด ไม่ควรรัด เพราะจะทำให้แผลที่บวมอยู่แล้ว เสี่ยงต่อการเกิดเนื้อตายและการบวมอาจกดเบียดเส้นประสาทและเส้นเลือดได้
(2) ควรล้างบาดแผลให้สะอาด อย่าใช้ไฟหรือเหล็กร้อนจี้ที่แผลงูกัด และอย่าใช้มีดกรีดแผลเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าถูกงูที่มีพิษต่อเลือดกัด หรืออาจตัดถูกเส้นเอ็นหรือเส้นประสาท รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ รวมทั้งไม่แนะนำให้ใช้ปากดูดพิษจากแผลงูกัดเพราะพิษอาจเข้าทางเยื่อบุปากได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีบาดแผล ถ้ารู้สึกปวดแผลให้รับประทานพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพรินเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
(3) เคลื่อนไหวแขนหรือขาส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ควรจัดตำแหน่งของส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ เช่น ห้อยมือหรือเท้าส่วนที่ถูกงูกัดลงต่ำระหว่างเดินทางไปยังสถานพยาบาลอย่าให้ผู้ป่วยเดินหรือขยับส่วนที่ถูกกัด เนื่องจากการขยับตัวจะทำให้กล้ามเนื้อมีการยืดและหดตัว พิษงูเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น
(4) ควรตรวจสอบว่างูอะไรกัด และถ้าเป็นได้ควรจับหรือตีงูที่กัด และนำส่งไปยังสถานพยาบาลด้วย
(5) อย่าให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาดองเหล้า หรือรับประทานยากระตุ้นประสาทรวมทั้งชากาแฟ
(6) ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจจากงูที่มีพิษต่อประสาท ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด
          ข้อห้าม
ห้ามรับประทานยาและเครื่องดื่มกระตุ้นหัวใจ
ข้อสังเกต
ปลอบโยนให้กำลังใจอย่าให้ตื่นเต้นตกใจซึ่งจะทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตมากยิ่งขึ้นพิษงูแพร่กระจายได้เร็วขึ้นควรนำงูที่กัดไปพบแพทย์เพื่อสะดวกต่อการวินิจฉัยและรักษา
         2.3.3 แมงป่อง/ตะขาบ
ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อยหรือตะขาบกัด เมื่อถูกแมงป่องต่อยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงบริเวณที่ถูกต่อย สำหรับผู้ที่ถูกตะขาบกัด เขี้ยวตะขาบจะฝังลงในเนื้อทำให้มองเห็นเป็น 2 จุด อยู่ด้านข้าง เมื่อถูกตะขาบกัดจะมีอาการบวมแดง และปวด บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) ใช้สายรัดหรือขันชะเนาะเหนือบริเวณที่ถูกกัดหรือเหนือบาดแผล เพื่อป้องกันมิให้พิษแพร่กระจายออกไป
(2) พยายามทำให้เลือดไหลออกจากบาดแผลให้มากที่สุด อาจทำได้หลายวิธีเช่น เอามือบีบ เอาวัตถุที่มีรูกดให้แผลอยู่ตรงกลางรูพอดี เลือดจะได้พาเอาพิษออกมาด้วย
(3)  ใช้แอมโมเนียหอมหรือทิงเจอร์ไอโอดี ทาบริเวณแผลให้ทั่ว
(4)  ถ้ามีอาการบวมอักเสบและปวดมาก ให้ใช้ก้อนน้ำแข็งประคบบริเวณแผลเพื่อช่วยบรรเทาอาการความเจ็บปวดด้วย
(5) ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลง ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจรักษาต่อไป
         2.3.4 ผึ้ง ต่อ แตน
ผึ้ง ต่อ แตน แมลงเหล่านี้มีพิษต่อคน เมื่อถูกแมลงเหล่านี้ต่อย โดยเฉพาะผึ้งมันฝังเหล็กในเข้าไปในบริเวณที่ต่อยและปล่อยสารพิษจากต่อมพิษออกมา ผู้ถูกแมลงต่อยส่วนมากมีอาการเฉพาะที่ คือ บริเวณที่ถูกต่อยจะ ปวด บวม แดง แสบ ร้อน แต่บางคนแพ้มากทำให้อาการหายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ หอบ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก มีไข้ และชักความรุนแรงขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน และจำนวนครั้งที่ถูกต่อย 
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้น
(1) รีบเอาเหล็กในออก โดยระวังไม่ให้ถุงน้ำพิษที่อยู่ในเหล็กในแตกอาจทำโดยใช้ใบมีดขูดออก หรือใช้สก็อตเทปปิดทาบบริเวณที่ถูกต่อย แล้วดึงออกเหล็กในจะติดออกมาด้วย
(2) ประคบบริเวณที่ถูกต่อยด้วยความเย็นเพื่อลดอาการปวด
(3) ทาครีมลดอาการบวมแดง หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ๆ ปิดแผล เช่น แอมโมเนีย น้ำปูนใส
(4) ถ้ามีอาการแพ้เฉพาะที่ เช่น บวม คัน หรือเป็นลมพิษให้ยาแก้แพ้
(5) ในกรณีที่มีอาการบวมตามหน้าและคอ ซึ่งทำให้หายใจไม่สะดวกต้องรีบ นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาขั้นต่อไป
         2.4 วิธีการปฐมพยาบาลกรณีหมดสติจากการถูกทำร้ายร่างกาย
การหมดสติ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น สาเหตุเนื่องจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนจากการถูกทำร้ายร่างกายบริเวณศีรษะ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใกล้ผิวชั้นนอก ทำให้เลือดไหลออกมาก แต่มีบางกรณีไม่มีเลือดไหลออกมาภายนอกทำให้ผู้บาดเจ็บหมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจทำให้เสียชีวิต จึงต้องประเมินสถานการณ์และการบาดเจ็บ เพื่อให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้หมดสติ
(1) สำรวจสถานการณ์บริเวณที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว ถ้าสถานการณ์ปลอดภัยให้ตะโกนเรียกผู้หมดสติ
(2) หากไม่มีการตอบสนอง ใช้มือทั้ง 2 ข้างตบไหล่ เรียกพร้อมสังเกตการตอบสนอง (การลืมตา ขยับตัว และพูด) และดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก หน้าท้อง ถ้าพบว่ายังหายใจอยู่ให้รีบให้การช่วยเหลือ และขอความช่วยเหลือโดยการโทรเรียกรถพยาบาล 1669
แต่หากไม่ตอบสนอง หน้าอกหน้าท้องไม่กระเพื่อมขึ้นลง แสดงว่า ผู้ถูกทำร้ายหมดสติและไม่หายใจ ต้องช่วยเหลือผู้หมดสติ โดยการทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) โดยเร็วทันทีให้แก่ผู้บาดเจ็บซึ่งจะช่วยให้เลือดได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นและมีการไหลเวียนเข้าสู่สมองและอวัยวะสำคัญอื่นๆ ก่อนที่จะถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในกรณีที่ศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บได้รับการบาดเจ็บด้วย ผู้ให้การปฐมพยาบาล จะต้องระมัดระวังไม่ให้ศีรษะลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บมีการเคลื่อนไหว ซึ่งทำได้โดยดึงขากรรไกรล่างหรือคางของผู้บาดเจ็บไปข้างหน้าเพื่อเปิดทางให้อากาศเดินทางเข้าได้สะดวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น