วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

6.3 บทบาทหน้าที่ลูกเสือ กศน. ที่มีต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม




เรื่องที่ 3 บทบาทหน้าที่ของลูกเสือ กศน. ที่มีต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม
ลูกเสือ กศน. มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาตนเอง ซึ่งเน้นการพัฒนาความสามารถ
ศักยภาพ และสมรรถนะที่ทันต่อสภาพความจำเป็น ตามความก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลง
ของสังคมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การพัฒนาตนเอง จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ
ถึงความสำคัญของการพัฒนาในด้านต่าง ๆ รู้วิธีการวางแผนพัฒนาตนเอง ในบทบาทของผู้นำ
และผู้ตาม
ผู้เรียน กศน. ที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือ กศน. เริ่มต้นด้วยการแสวงหาความรู้ทั่วไป
ที่เกี่ยวกับทักษะการดำรงชีวิต โดยใช้กระบวนการคิดเป็น ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวกับทักษะลูกเสือ
กิจกรรมกลางแจ้ง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจแก้ปัญหา และเข้าพิธีประจำกองลูกเสือ
วิสามัญ โดยผู้กำกับกองลูกเสือวิสามัญจะเป็นผู้ประกอบพิธีประจำกองให้แก่ลูกเสือ กศน.
ให้ลูกเสือ กศน. แต่งเครื่องแบบลูกเสือวิสามัญมาพร้อมกันที่ คูหาลูกเสือวิสามัญ (Rover Den)
หรือสถานที่นัดหมายอื่นที่เหมาะสม เพื่อทบทวนหลักการการเป็นพลเมืองดีในทัศนะของลูกเสือ
พิจารณาคติพจน์ คำปฏิญาณ และกฎของลูกเสือทั้ง 10 ข้อ ที่จะนำสู่การปฏิบัติตนเป็นคนดี
สำรวจตัวเอง และเข้าพิธีประจำกองตามลำดับ
การปฏิบัติตนตามคติพจน์ของลูกเสือ กศน. คือ บริการซึ่งเป็นเสมือนหัวใจ
ของลูกเสือ กศน. ที่จะต้องยึดมั่นในการเสียสละด้วยการบริการ แต่การบริการนี้มิได้หมายถึง
เป็นผู้รับใช้หรือคนงานการบริการในความหมายของการลูกเสือนี้ เรามุ่งที่จะอบรมบ่มนิสัยและ
จิตใจให้ได้รู้จักเสียสละ ได้รู้จักวิธีหาความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในอนาคต และ
ในที่สุดก็จะทำให้สามารถประกอบอาชีพโดยปกติสุขในสังคม
การบริการ หมายถึง การประกอบคุณประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติ ด้วยการถือว่า
เป็นเกียรติประวัติสูงสุดแห่งชีวิตของเรา ในการที่รู้จักเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อบำเพ็ญ
ประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อจุดมุ่งหมายให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้โดยปกติ เป็นการสอนให้ลูกเสือ
วิสามัญตั้งตนอยู่ในศีลธรรมไม่เอาเปรียบผู้ที่ยากจนหรือด้อยกว่า นอกจากนั้นการบริการแก่
ผู้อื่นเปรียบเสมือนเป็นการชำระหนี้ที่ได้เกิดมาแล้ว อาศัยอยู่ในโลกนี้ก็ด้วยความมุ่งหวังจะให้
ทุกคนเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม มองเห็นความจำเป็นของสังคมว่าไม่มีใครสามารถ
ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลำพัง ทุกคนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่ว่าด้านอาหารการกิน ด้านเครื่องนุ่งห่ม
ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรืออื่น ๆ
ลูกเสือ กศน. พึงนำคำปฏิญาณ กฎและคติพจน์ของลูกเสือ มาเป็นแนวทางการ
พัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ดังนี้
1. พัฒนาทางกาย พัฒนาทางด้านร่างกาย มุ่งเน้นการเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ
เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
2. พัฒนาทางสติปัญญาพัฒนาทางด้านสติปัญญา มุ่งเน้นการทำงานอดิเรก
การฝีมือ การรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
3. พัฒนาทางจิตใจศีลธรรม พัฒนาทางด้านความคิดเรื่องศาสนา ซึ่งมีวิธีการ
แตกต่างกันไปตามศาสนาที่ตนนับถือ มุ่งเน้นยึดมั่นในหลักการของศาสนา เพื่อให้บรรลุผลแห่ง
ความจงรักภักดีต่อศาสนา
4. พัฒนาในเรื่องสร้างค่านิยมและเจตคติพัฒนาทางด้านความรู้สึกด้านค่านิยม
มุ่งเน้นการเอาใจใส่ ระมัดระวังในการเผชิญปัญหา สถานการณ์ปัจจุบันเป็นพิเศษ
5. พัฒนาทางสัมพันธภาพระหว่างบุคคล มุ่งเน้นการปฏิบัติตนให้อยู่ในสังคม
ได้อย่างมีความสุข
6. พัฒนาสัมพันธภาพทางสังคม สร้างสัมพันธภาพทางสังคม มุ่งเน้นการทำงาน
เป็นระบบหมู่ในบทบาทของผู้นำ และผู้ตามที่ดี
7. พัฒนาสัมพันธภาพต่อชุมชน มีความรับผิดชอบต่อชุมชน มุ่งเน้นความสำคัญ
ของความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อผู้อื่นด้วยการบำเพ็ญประโยชน์
8. พัฒนาทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นความสนใจใน
สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ


1 ความคิดเห็น: