วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

11.4 วิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน


เรื่องที่ 4 วิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน
การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary Resuscitation : CPR) เป็นการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและช่วยให้โลหิตมีการไหลเวียนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย จนกระทั่งระบบต่าง ๆกลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ได้แก่ หัวใจขาดเลือด ไฟฟ้าดูด ได้รับสารพิษ จมน้ำ อุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น  อาการของผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ โดยการทำ CPR คือ หมดสติ หยุดหายใจหรือมีการหายใจผิดปกติ (Gasping)
ขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary Resuscitation : CPR)
1. สำรวจสถานการณ์ สำรวจสถานการณ์บริเวณที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว ถ้าสถานการณ์ปลอดภัยให้ตะโกนเรียกผู้บาดเจ็บ
2. หากไม่มีการตอบสนอง ใช้มือทั้ง 2 ข้างตบไหล่ เรียกพร้อมสังเกตการตอบสนอง (การลืมตาขยับตัว และพูด) และดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก หน้าท้อง พบว่าหน้าซีดไม่มีการตอบสนอง หน้าอก หน้าท้องไม่เคลื่อนไหว แสดงว่าหมดสติ ไม่หายใจ ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ
3. ขอความช่วยเหลือ  ถ้าผู้บาดเจ็บหมดสติไม่หายใจ ให้ขอความช่วยเหลือ โทรศัพท์แจ้ง 1669 (ศูนย์นเรนทร)
4. การกระตุ้นหัวใจ โดยการกดหน้าอก 30 ครั้ง
(1) ตำแหน่ง : กึ่งกลางหน้าอก
(2) กดด้วย : สันมือ 2 ข้างซ้อนกัน
(3) กดลึก : 5–6 เซนติเมตร
(4) กดเร็ว : 100–120 ครั้ง/นาที และต้องผ่อนมือให้ทรวงอกคืนตัวก่อนกดครั้งต่อไป
(5) จำนวน : 30 ครั้ง
(6) ออกแรงกดจากลำตัวโดยมีสะโพกเป็นจุดหมุน กดในแนวตั้งฉากกับพื้นข้อศอกเหยียดตรง เวลาในการกดและผ่อนต้องเท่ากัน กดแรงและกดเร็วเป็นจังหวะ (Push Hard – Push Fast)
5. การผายปอด และการช่วยหายใจ
5.1 การช่วยหายใจโดยวิธีเป่าปาก ให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางศีรษะให้ต่ำกว่าไหล่เล็กน้อย และให้แหงนศีรษะไปข้างหลังเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยโล่งลิ้นมาจุกที่คอหอย ใช้มือหนึ่งบีบจมูกของผู้ป่วย ใช้นิ้วหัวแม่มือของอีกมือหนึ่งแหย่เข้าไปในปากผู้ป่วยเพื่อดึงคางให้อ้าออก หายใจเข้าลึก ๆ อ้าปากให้กว้าง ๆ เอาปากประกบกับปากผู้ป่วยให้แน่นแล้วเป่าลมเข้าไปในปากผู้ป่วย ดูว่าหน้าอกผู้ป่วยพองขึ้นหรือไม่ ถ้าพองขึ้นแสดงว่า ลมเข้าไปในปอดได้ดี ถอนปากที่ประกบออกเพื่อให้ผู้ป่วยได้หายใจออกเอง เมื่อผู้ป่วยหน้าอกยุบลง ก็เป่าลมเข้าไปในปากผู้ป่วยอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 15 - 20 ครั้งต่อนาทีจนกว่า  ผู้ป่วยจะหายใจได้เอง ระหว่างปฏิบัติให้ศีรษะผู้ป่วยแหงนไปข้างหลังตลอดเวลา
5.2 การช่วยหายใจโดยวิธีเป่าจมูก ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเช่นเดียวกับวิธีช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก แต่ใช้มือข้างหนึ่งดันคางผู้ป่วยให้ปากปิดสนิท หายใจเข้าลึก ๆ เอาปากประกบลงไปบนจมูกผู้ป่วยให้แนบสนิท แล้วเป่าลมเข้าไป ดูว่าหน้าอกผู้ป่วยพองขึ้นหรือไม่  ถ้าพองขึ้นแสดงว่าลมเข้าไปในปอดได้ดี ถอนปากออกแล้วใช้มือจับคางผู้ป่วยให้อ้าออก เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออกได้ทางปาก เมื่อผู้ป่วยหน้าอกยุบลง ก็เป่าลมไปทางจมูกเช่นเดิมอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง
5.3 การช่วยหายใจโดยการยกแขนและกดทรวงอก ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเช่นเดียวกับสองวิธีแรก พับแขนผู้ป่วยเข้าหากันไว้บนอก นั่งคุกเข่าอยู่เหนือศีรษะผู้ป่วยจับข้อมือผู้ป่วยทั้ง 2 ข้าง ข้างละมือ โย้ตัวไปข้างหน้าเหยียดแขนตรงกดลงไปตรงมือของผู้ป่วยซึ่งจะเท่ากับกดทรวงอกของผู้ป่วยให้หายใจออกขับเอาน้ำออกมา แล้วโย้ตัวไปข้างหลังพร้อมกับจับแขนผู้ป่วยทั้ง 2 ข้างดึงแยกขึ้นไปข้างบนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จะทำให้ปอดผู้ป่วยขยายตัวทำให้อากาศไหลเข้าไปได้ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง
5.4 การช่วยหายใจโดยการแยกแขนและกดหลัง ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ให้แขนของผู้ป่วยทั้ง 2 ข้างพับเข้าหากัน หนุนอยู่ใต้คาง นั่งคุกเข่าอยู่เหนือศีรษะผู้ป่วย วางฝ่ามือลงบนหลังของผู้ป่วยใต้ต่อกระดูกสะบัก ข้างละมือ โดยให้หัวแม่มือมาจดกัน กางนิ้วมือทั้ง 2 ข้างออก โน้มตัวไปข้างหน้า แขนเหยียดตรงใช้น้ำหนักตัวกดลงบนแผ่นหลังของผู้ป่วย ซึ่งจะเท่ากับกดทรวงอกของผู้ป่วยให้หายใจออก ขับเอาน้ำ (ถ้ามี) ออกมาจากนี้ย้ายมือทั้ง 2 ข้างมาจับต้นแขนผู้ป่วยแล้ว โย้ตัวกลับพร้อมกับดึงข้อศอกของผู้ป่วยมาด้วย จะทำให้ปอดผู้ป่วยขยายตัว ทำให้อากาศไหลเข้าไปได้ ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง ถ้าการช่วยหายใจกระทำได้ถูกต้องดังกล่าว และหัวใจของผู้ป่วยยังเต้นอยู่ตลอดเวลาผู้ป่วยจะดูแดงขึ้น และอาจกลับมาหายใจได้เป็นปกติอีก
ข้อสังเกต
(1) การกดหน้าอกให้กดต่อเนื่อง ระวังอย่าหยุดกดหรืออย่าให้มีการเว้นระยะการกด
(2) การกดหน้าอกแต่ละครั้งต้องมีการปล่อยให้ทรวงอกกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อน(แต่ไม่ยกสันมือขึ้นพ้นจากทรวงอก) แล้วจึงกดครั้งต่อไปเมื่อหัวใจถูกกดด้วยความลึก 5 – 6 เซนติเมตร ความดันในช่องอกจะเพิ่มขึ้นทำให้มีเลือดสูบฉีดออกจากหัวใจ และไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและอวัยวะอื่นๆเมื่อหัวใจคลายตัวกลับสู่สภาพเดิมในระหว่างการกดหน้าอก และความดันในช่องอกลดลงเลือดจะไหลกลับสู่หัวใจและปอด เพื่อรับออกซิเจนที่เป่าเข้าไปจากการช่วยหายใจ และพร้อมที่จะสูบฉีดครั้งใหม่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น